คณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ส่งความเห็นแย้งต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับสุดท้าย

ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมีความสำคัญในการเลือกตั้งในครั้งหน้า

โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นแย้งในร่างกฎหมายฉบับแรกรวม 5 ประเด็น ส่วนฉบับหลังมีความเห็นแย้ง 1 ประเด็น ส่วนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีความเห็นแย้งร่างกฎหมายฉบับแรก 4 ประเด็น ฉบับหลัง 3 ประเด็น

จากนี้ จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณาหาข้อยุติ

แม้รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย จะอ้างว่าแม้จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม จาก 3 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณา แต่ก็ไม่อาจถือว่าเป็นการเสียเวลา เพราะมีกำหนดระยะเวลา 15 วันตาม ที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ว่าจะต้องทำให้เสร็จ

สำหรับสัดส่วนคณะกรรมาธิการร่วมนั้น มาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฝ่ายละ 5 คน อีก 1 คน มาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เสร็จแล้วก็จะนำเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกครั้ง

ทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลและไม่ไว้วางใจ เพราะเคยอาศัยช่องทางการบัญญัติกฎหมายเลื่อนบังคับใช้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ออกไป 90 วันมาแล้ว

โอกาสที่จะเกิดความไม่ชอบมาพากล จึงยังมีอยู่








Advertisement

จริงอยู่ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ระบุว่าโอกาสที่สภาจะคว่ำร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งใน 2 ฉบับนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้คะแนนเสียงถึง 3 ใน 4 พร้อมกับแสดงความไม่เห็นด้วยกับวิธีการนี้

รวมทั้งไม่เห็นด้วยอีกเช่นกัน กับการยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าหากกฎหมายทั้งสองฉบับผ่านสภา เพื่อหวังถ่วงให้การเลือกตั้งทั่วไปต้องยืดระยะเวลาออกไป

ในส่วนแนวคิดของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นับเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุน สังคมจะต้องช่วยกันเรียกร้องและกดดันทุกช่องทาง เพื่อไม่ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติกระทำการใดๆ ที่เป็นการถ่วงรั้งการเลือกตั้ง

ที่ผ่านมาเกือบ 4 ปี ประเทศชาติก็เสียโอกาสมามากแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน