FootNote : ยุทธศาสตร์ ก้าวข้าม ความขัดแย้ง กับบทบาท ประวิตร วงษ์สุวรรณ

แม้ว่าความเชื่อมั่นต่อแนวทาง “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” อันเสนอเข้า มาอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะถูกตีโต้จากความเป็นจริงหลายประการต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกของหลายคนในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระแสและแรงต้านจากสังคม

กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่า “ความจริง” ใน “จดหมาย” ไม่ว่าจะกรณีของพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าจะกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ ได้กลายเป็นคำถาม

นั่นก็คือ เอกภาพและความขัดแย้งระหว่าง “คำพูด” กับ “การกระทำ” โดยเฉพาะจากพรรคการเมือง จากนักการเมืองที่พลิกผันและแปรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

หลายคนย่อมไม่ลืมคำพูดของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อยังสวมเสื้อพรรคพลังประชารัฐ เมื่อนำมาตรวจสอบกับปัจจุบันก็ต้องตกตะลึง

หลายคนย่อมตระหนักในชะตากรรมของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จำเป็นต้องลาออกจากหัวหน้าพรรค ลาออกจากการเป็น ส.ส.เพราะท่าทีที่เปลี่ยนไปของพรรค

การยกสิ่งเหล่านี้มาตอกย้ำของจดหมายจึงทรงความหมาย








Advertisement

ยิ่งเมื่อเป็นจดหมายที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้การรับรอง และยืนยันให้รับรู้ว่าเป็นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

พรรคพลังประชารัฐอันถือได้ว่าเป็นพรรค ซึ่งมีรากฐานมาจากยุทธศาสตร์ของ คสช.ในการสืบทอดอำนาจ

บนฐานที่ “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา”

คำว่า “พวกเรา” จึงมิได้หมายเพียง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงมิได้หมายเพียง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หากแต่ยังครอบคลุมไปยังเครือข่ายของคนอันเป็น “พลังประชารัฐ” หรือไม่

นี่จึงเป็นฐานแห่งความมั่นใจเป็นอย่างสูงของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ว่าถึงอย่างไรพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังมีความสำคัญ ตัว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็จะยังมีบทบาท

เป็นบทบาทในฐานะ “ผู้จัดการ” ในการตั้ง “รัฐบาล”

การสื่อและส่งสารผ่าน “จดหมาย” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงดำเนินไปเหมือนกับเป็นการคาดหมายถึงแนวโน้ม และความเป็นไปได้หนึ่งหลังการเลือกตั้ง

บอกไปยังหลายฝ่ายอันเคยสัมพันธ์จนเป็น “เครือข่าย”

ผลก็คือ ในทุกเวทีดีเบต ประชันวิสัยทัศน์ ตั้งแต่ใต้จนถึงเหนือสุด ตั้งแต่ตะวันออกจนถึงตะวันตก จึงมีคำถามถึงท่าทีและแนวโน้มที่จะเกิดหลังการเลือกตั้งว่าจะดำเนินไปอย่างไร

เมื่อท่านพูด คนจะฟัง เมื่อท่านลงมือทำ คนจะเชื่อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน