สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศทางออนไลน์ สอบถามคนไทยเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

พบว่าหลังการเลือกตั้งใหญ่วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประชาชนกระตือรือร้น สนใจติดตามข่าวสารการเมืองมากถึงร้อยละ 72.63 เป็นแนวโน้มที่ดีของระบอบประชาธิปไตย

แต่ความวิตกกังวลของประชาชน ณ วันนี้ นอกจากปัญหาปากท้องและค่าใช้จ่ายต่างๆ มากที่สุดคือร้อยละ 52.14 แล้ว รองลงมาคือการจัดตั้งรัฐบาลด้วย อยู่ที่ร้อยละ 51.90

นอกจากปัญหาความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว เรื่องการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็สร้างความเครียดให้ประชาชนเช่นกัน เพราะความคาดหวังต่อรัฐบาลใหม่

เมื่อสอบถามว่ามีความกังวลกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หรือไม่ พบว่าประชาชนกังวลใจถึงร้อยละ 67.83 เพราะเกรงว่าการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์

อีกทั้งกลัวว่าพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน มีการเล่นเกมการเมืองมากเกินไป

ท้ายที่สุดคือความกังวลต่อการโหวตของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องใช้เสียงถึง 376 เสียง

ที่น่าสนใจคือกังวลลึกลงไปถึงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ด้วย โดยผลการสำรวจพบว่าไม่เชื่อมั่นร้อยละ 58.33 และเชื่อมั่นร้อยละ 41.67








Advertisement

อย่างไรก็ตาม ความปริวิตกต่อปัญหาการเมืองกับเรื่องปากท้องนั้นแยกกันไม่ออก ด้วยเชื่อว่าถ้าการเมืองดี มีเสถียรภาพ การบริหารราบรื่น ความเป็นอยู่ประชาชนก็น่าจะดีขึ้นด้วย

วันที่ 30 พ.ค.นี้ พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคการเมือง นัดหมายหารือวงเล็กหาข้อยุติเรื่องผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งที่ผ่านมามีความเห็นไม่ตรงกัน

หากสามารถตกลงกันด้วยความเรียบร้อย ก็จะเป็นคุณต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้แคนดิเดตพรรคก้าวไกลยังคงได้รับความสนับสนุนเหนียวแน่น

ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงมีความสำคัญ เพราะต้องดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา เป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรีที่รัฐสภาเห็นชอบขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมและรับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีในลำดับต่อไป ซึ่งต้องได้ข้อยุติโดยเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน