ศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย สำนักงานอัยการสูงสุด รายงานการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ มีมากกว่า 900 เรื่อง

จำนวนนี้ 3 เรื่อง เป็นการแจ้งเหตุทรมาน การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหายจากผู้พบเห็น หรือทราบเหตุ ขณะนี้อยู่ระหว่าง การกล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต่อไป

การรายงานดังกล่าวเป็นไปตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ซึ่งมีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. 2566

ส่งผลให้อัยการและตำรวจ ซึ่งเป็นต้นทาง ในกระบวนการยุติธรรมต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้กฎหมายฉบับใหม่นี้มีประสิทธิภาพคุ้มครองประชาชน

ก่อนหน้านี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกพ.ร.ก.เพื่อเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย จากวันที่ 22 ก.พ. ไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.2566

อ้างถึงความไม่พร้อมด้านงบประมาณจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ติดตามตัวเจ้าหน้าที่ การบันทึกภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งขณะเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหา

ต่อมาส.ส. 99 คน ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในที่สุดศาลฯ มีมติ 8 ต่อ 1 ชี้ว่าพ.ร.ก. ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.

ปัญหาที่ตามมา คือตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ. ถึงวันที่ 18 พ.ค.2566 วันที่ศาลฯ วินิจฉัย รัฐบาลจะชดเชยเยียวยาอย่างไรต่อประชาชนที่ถูกละเมิด

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และอดีตผอ.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจและสำคัญ

โดยระบุว่าการเลื่อนบังคับใช้พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ มีมูลเข้าข่ายความผิดฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต อาจส่งผลให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีอาจมีความผิดด้วย

โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญช่วงวันที่ 22 ก.พ. ถึง วันที่ 18 พ.ค.2566 เจ้าหน้าที่ความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 37 ราย โดยไม่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานฯ

ดังนั้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ นอกจากชดเชยเยียวยาประชาชนที่ถูกละเมิดแล้ว จะต้องดำเนินคดีเจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้องด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน