FootNote:ผลการเลือกตั้ง คือ “คำตอบ” จากประชาชน ต่อรัฐประหาร

ยิ่งพรรคก้าวไกล ยิ่ง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เคลื่อนไหว ไม่ว่าจะดำเนินไปตามที่มีการลงนามผ่าน “บันทึกช่วยจำ” ไม่ว่าจะเดินสายเพื่อขอบคุณประชาชน

ยิ่งก่อให้เกิดการเปรียบเทียบ ไม่เพียงแต่ต่อรัฐบาลเก่า กลุ่มอำนาจเดิม หากแต่ยังเสนอภาพใหม่ วิถีใหม่ในทางการเมือง

บทบาทของ “คณะกรรมการเพื่อการเปลี่ยนผ่าน” ที่นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ดำเนินไปในลักษณะทะลุทะลวงและประกาศแนวทางออกมาอย่างแจ้งชัด

บนแนวทางที่สรุปรวม 3 D อันประกอบด้วย 1 Demilita Rize แยกทหารออกจากการเมือง 1 Demonopolize ทำลายทุนผูกขาด 1 Decentralize กระจายอำนาจ ก็เริ่มปรากฏร่องรอยให้ได้รับรู้ตลอดสองรายทาง

ขณะเดียวกัน กระบวนการในการขับเคลื่อนอันสะท้อนผ่านพรรคก้าวไกลที่นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็แนบแน่นอยู่กับฐาน และความต้องการของประชาชนอย่างแยกไม่ออก

ยิ่งเคลื่อนไหวยิ่งปลุกระดมและดึงมวลชนเข้ามาแวดล้อมอย่างอบอุ่น เร่าร้อนและคึกคัก

ไม่ว่าที่ภูเก็ต ไม่ว่าที่ระยอง ชลบุรี ไม่ว่าที่เชียงใหม่

ต้องยอมรับว่าคะแนนกว่า 14 ล้านเสียงของพรรคก้าวไกล เป็นคะแนนอันสะท้อน “เจตจำนงร่วม” ของประชาชนอย่างแจ้งชัด และดำรงอยู่ในขอบเขตทั่วประเทศ

มองผ่าน ส.ส.ระบบเขต ก็มีทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้

นี่คือความต่างเมื่อเปรียบเทียบกับพรรคพลังธรรม พรรคประชากรไทย เมื่อเปรียบเทียบกับพรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคความหวังใหม่ในกาลอดีต

ตรงกันข้าม พรรคก้าวไกล ดำรงอยู่ในลักษณะและสถานะเดียวกันกับที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยรักไทย เคยได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

สามารถยืนยันและประกาศว่าเป็น “ผู้แทน” อันได้รับ “อาณัติ” โดยชอบธรรม ไม่เพียงด้วยคะแนนเสียงหากที่สำคัญเป็นอย่างมาก คือการออกมาห้อมล้อมและต้อนรับอย่างเป็นจริง

ยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับการดำรงอยู่ของพรรคเพื่อไทยยิ่งทรงพลัง

การเมืองก่อนวันที่ 14 พฤษภาคม กับหลังวันที่ 14 พฤษภาคม จึงสะท้อนถึงการประจันหน้ากันอย่างเห็นเด่นชัด อันเป็นสภาพการณ์ตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร 2 ครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นก่อนรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เด่นชัดยิ่งว่า ความมาดหมายที่จะใช้วิธีการ “รัฐประหาร” เพื่อมาจัดระบบและแก้ปัญหาในทางการเมืองไม่ประสบอย่างราบรื่น และเรียบร้อยในทางเป็นจริง

ที่เคยมีบทสรุปว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นรัฐประหาร “เสียของ” และกลายเป็นเหตุผลให้ต้องทำรัฐประหารซ้ำอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2557

ผลจากการเลือตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 คำตอบก็ชัดเจน

มีความพยายามเคลื่อนไหวและเรียกร้องจากบางส่วนในทางการเมืองเพื่อให้มีการนำวิธีการ “รัฐประหาร” มาใช้และเพื่อแก้ปัญหาที่ดำรงอยู่ในทางการเมืองอีก

แต่ดูเหมือนว่าเสียงขานรับในทางสังคมจะแผ่วเบาอย่างยิ่ง

นั่นไม่เพียงเพราะความล้มเหลวอันเนื่องจากรัฐบาล ซึ่งเป็นผลพวงแห่งรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นหลังเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นหลังเดือนพฤษภาคม 2557 ไม่ประทับใจ

หากที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งการตัดสินใจของประชาชน ผ่านการเลือกตั้งยังเป็นคำตอบอย่างตรงคำถามที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน