FootNote : ท่าที เพื่อไทย ประธานสภา ท่าที การลงนาม “MOU”

พลันที่ความเห็นของ นายอดิศร เพียงเกษ ในเรื่องตำแหน่งประธานสภาควรเป็นของพรรคเพื่อไทย มิใช่เป็นโควตาที่พรรคก้าวไกลจะยึดครองไปอย่างง่ายดาย กึกก้องในพรรคเพื่อไทย

หลายคนหวนนึกถึงบรรยากาศอันเหมือนกับเป็นรอยร้าวในห้วงก่อนลงนาม “MOU” เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม

เมื่อมีข้อเสนอให้จัดทำ Advance MOU อีกฉบับหนึ่ง ความรู้สึกที่ยากต่อการทำความเข้าใจก็คือ เหตุใดเมื่อ น.ต.ศิธา ทิวารี เสนอขึ้นมาใน “สาธารณะ” จึงก่อความฉุนเฉียวให้กับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นอย่างมาก

ไม่เพียงมองเห็นว่าเป็นข้อเสนออย่างไร้มารยาทในทางการเมือง หากแต่ยังบันดาลโทสะถึงระดับที่ว่าอยากจะชกหน้า น.ต.ศิธา ทิวารี ด้วยซ้ำไป

ตราบใดที่ไม่เข้าใจถึงบรรยากาศและความเป็นจริงก่อนการลงนาม MOU เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ตราบนั้นก็ยากที่จะเข้าใจในความแหลมคมของข้อเสนอให้มี Advance MOU

โดยเฉพาะเมื่อมาจาก น.ต.ศิธา ทิวารี ซึ่งเคยเป็นคน “วงใน” ทางการเมืองตั้งแต่ ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย สะท้อนบทสรุปที่ว่า ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่

ตามกำหนดเดิมอันเป็นพิมพ์เขียวทางการเมืองซึ่งริเริ่มและนำเสนอโดยพรรคก้าวไกล คือ ต้องลงนามเวลา 16.30 น.ของวันที่ 22 พฤษภาคม

เลือกเวลาเดียวกันกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดสินใจยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เมื่อ 9 ปีก่อน

ถามว่าที่ไม่อาจรักษาเวลา 16.30 น.ได้มาจากปัจจัยอะไร คำตอบมีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับว่ามาจากข้อต่อรองให้มีการเปลี่ยนบางประโยคภายใน MOU จาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

ความเป็นจริงนี้ย่อมอยู่ในความรับรู้ของพรรคไทยสร้างไทย และของ น.ต.ศิธา ทิวารี จึงได้ดักคอในลักษณะตีปลาหน้าไซ ด้วยการเสนอให้มีการจัดทำ Advance MOU เท่ากับตีตรงไปยัง “ขนดหาง” อันเป็นพฤติกรรมพรรคเพื่อไทย

อย่าได้แปลกใจที่เมื่อสังคมเห็นบทบาทของพรรคเพื่อไทย เห็นบทบาทของที่ประชุมพรรคเพื่อไทย ปล่อยให้ นายอดิศร เพียงเกษ ได้แสดงความเห็นอย่างเต็มพิกัด

ย่อมทำให้เกิดนัยประหวัดไปยังเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม

ย่อมทำให้ความกังขาในห้วงก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ต่อท่าทีและคำประกาศจากพรรคเพื่อไทยยิ่งจำหลักอย่างหนักแน่น

บทบาทและการเคลื่อนไหวแต่ละจังหวะก้าวจาก “ภายใน” ของพรรคเพื่อไทยนั่นแหละที่ทำให้เกิดความแคลงคลางกังขา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน