FootNote:รัฐประหาร กันยายน 2549 รัฐประหาร พฤษภาคม 2557

ไม่ว่าการนัดชุมนุมมวลชนของพรรคก้าวไกล ไม่ว่าการออกโรงแถลงในเรื่องคดี 99 ศพ ของอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นคนละเรื่องซึ่งมีความสัมพันธ์กัน

เนื่องจากคดี 99 ศพ มีรากฐานมาจากการล้อมปราบเมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

ขณะที่การชุมนุมมวลชนเนื่องจากการเลือกตั้งในปี 2566

เหมือนกับทั้ง 2 เรื่องมีองค์ประกอบจากแต่ละเวลาอันแตกต่างกัน แต่หากหยิบตัวละครมาพิจารณาอย่างจริงจัง ก็ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์และยึดโยงกันอยู่

นั่นก็คือ การล้อมปราบจนเกิดการสังหาร 99 ศพกลางเมืองต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ต่อเนื่องจากนิติสงครามอันนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชนและการเกิดของรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายน 2551

นั่นก็คือชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 นำไปสู่ความพยายามในการฟื้นคดี 99 ศพ และกลายเป็นชนวนนำไปสู่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 นั้นเองคือรากฐานแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ซึ่งกลายเป็นปัญหาในปัจจุบัน

ยิ่งหากมองดูตัวละครจากความขัดแย้งในการแย่งชิงอำนาจทาง การเมืองผ่านกระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ก็จะมองเห็นความต่อเนื่องของปัญหาที่วนอยู่ในปลักโคลน

ไม่ว่าจะมองผ่านตัวละครอย่าง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไม่ว่าจะมองผ่านตัวละครอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่เคยคิดว่าจะใช้กระบวนการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เพื่อแก้ปัญหาอันคิดว่าพรรคไทยรักไทยเป็นตัวตั้งกลับเพิ่มปัญหาให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากในทางการเมืองประชาชนยังไว้วางใจพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ต่อเนื่องมาถึงพรรคเพื่อไทย จึงต้องทำรัฐประหารซ้ำอีกในเดือนพฤษภาคม 2557

โดยภาพที่ปรากฏอาจสยบปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่กลับยิ่งก่อความยุ่งยากต่อเนื่องมาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2566

ภาพที่ปรากฏขณะที่ปัญหาอันมาจากชัยชนะในการเลือกตั้งของ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย ยังไม่สามารถสะสางได้อย่างราบรื่น ก็มีการฟื้นคดี 99 ศพขึ้นมาอีก

พุ่งเป้าและเน้นอย่างหนักแน่นสู่รัฐประหารพฤษภาคม 2557

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ล้วนอยู่ในฐานะถูกกล่าวหาเป็นจำเลยในทางสังคม

สถานการณ์ในเดือนกรกฎาคม 2566 จึงทวีความแหลมคม และร้อนแรงในสภาพที่ตกอยู่ในสภาวะอับตันในทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน