FootNote:ภาพการชุมนุม หน้า “รัฐสภา” กับ ภาพ ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เบื้องหน้าการนัดหมายไปร่วมติดตามการประชุมรัฐสภา เพื่อโหวตรับหรือไม่รับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม ได้ก่อให้เกิด 2 ปรากฏการณ์ตามมา
1 เป็นการเตรียมพร้อมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 เป็น การเตรียมพร้อมของรัฐสภาและกรุงเทพมหานคร
น่าสนใจก็ตรงที่เป็น “ปรากฏการณ์” อัน “สวนทาง” โดยสิ้นเชิง
การเตรียมพร้อมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือกำลังพลในความควบคุมของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ประสานกับหน่วยอื่นจำนวน 15 กองร้อย
เป็น 15 กองร้อยอันอาจเรียกได้ว่า “หน่วยควบคุมฝูงชน” โดยมีอุปกรณ์รับมือครบครัน ไม่ว่าจะเป็นรถฉีดน้ำ ไม่ว่าจะเป็นรถคุม และกักขัง “ผู้ต้องหา” และเบิกกระสุนยางสำรองมากมาย
พลันที่มีคำสั่งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภาพแห่งการควบคุมฝูงชนอันเจนตาจากการบริหารจัดการต่อผู้ชุมนับแต่กลาง ปี 2563 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 ก็ฉายสะท้อนชัดเจน
เป็นความชัดเจนจากอันย้อนแย้งอย่างยิ่งกับคำประกาศจากรัฐสภาและจากกรุงเทพมหานคร
1 เป็นภาพอันให้ความช่วยเหลือ 1 เป็นภาพแห่งการสลาย
ต้องยอมรับว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในแผนเผชิญเหตุของรัฐบาลรักษาการอันมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเด่นชัด
ขณะที่กรุงเทพมหานครอยู่ในมิติใหม่ในทางการเมือง ขณะที่รัฐสภาก็อยู่ในมิติใหม่ในทางการเมือง
นั่นก็คือ เป็นกรุงเทพมหานครในความรับผิดชอบของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นั่นก็คือเป็นรัฐสภาในความรับผิดชอบของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา
ไม่ว่ารากฐานแห่งความรับผิดชอบของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไม่ว่ารากฐานแห่งความรับผิดชอบของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ตรงกัน นั่นก็คือมาจากการเลือกของ”ประชาชน”
เป็นรากฐานที่อยู่ตรงกันข้ามกับสถานะและการดำรงอยู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากกระบวนการรัฐประหาร
ภาพที่กำลังจะปรากฏ ณ เบื้องหน้าประชาชนทั้งประเทศในวันพฤหสบดีที่ 13 กรกฎาคม จึงย่อมเป็นภาพอันแตกต่างไปจากที่เคยชินในอดีตอันใกล้อย่างแน่นอน
1 สะท้อนราก “เผด็จการ” 1 สะท้อนฐาน “ประชาธิปไตย”
ภาพแรกไม่ต้องการให้ประชาชนได้แสดงออกในทางการเมืองทั้งๆ ที่เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ภาพหลังเป็นความพร้อมที่จะโอบรับกับการขับเคลื่อนองค์ภาคประชาชนอย่างเต็มเปี่ยม
บังเอิญที่ภาพหลังแนบแน่นและอยู่ในรากฐานเดียวกันกับที่มาของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เท่านั้น