ผ่านเลือกตั้งสองเดือนเต็ม สถานการณ์การเมืองไทยยังผันผวนไม่แน่นอน จากการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย เมื่อวันพฤหัสบดี 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา ยังไม่ได้ข้อยุติ

สถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคม เกิดความผันผวนไม่แน่นอนตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหามากมายรอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้ไข ไม่ว่าเศรษฐกิจการค้า การลงทุน การจัดทำงบประมาณ ปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ปัญหาภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ฯลฯ เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประเมินตรงกัน เศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง ยังต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญหลายด้านทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะปัจจัยภายในเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล

การจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรคภายใต้การนำของพรรคก้าวไกลที่ร่วมกันเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

หากลุล่วงไปตามระบอบประชาธิปไตยไม่เพียงจะเสริมสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ยังมีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจให้บรรดานักลงทุนไทยและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามหากมองสถานการณ์ 13 กรกฎาคม ภาพการประชุมร่วมรัฐสภาบ่งชี้ถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังดำรงอยู่ต่อไป จากการโหวตลงมติเลือกนายกฯ ที่ไม่บรรลุผลในรอบแรก

แม้มีความพยายามจากนายพิธา และพรรคก้าวไกล ตลอดจนสมาชิก 7 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ในการชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ ทั้งเรื่องคุณสมบัติ และในประเด็นอ่อนไหว แต่ดูเหมือนไม่มีผลใดๆ ต่อจุดยืนของสมาชิกวุฒิสภาเสียงส่วนใหญ่

การโหวตเลือกนายกฯ คือตัวชี้วัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นักธุรกิจและประชาชนต่างจับตาผลโหวตสุดท้ายจะลงเอยอย่างไร เพราะมีผลต่อเนื่องไปถึงจัดตั้งรัฐบาล

กล่าวคือหากตั้งรัฐบาลได้ไม่เกินเดือนสิงหาคม ม็อบไม่รุนแรง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะไม่มาก ยังขยายตัวได้เพราะถือว่ายังอยู่ในกรอบไทม์ไลน์

แต่หากการโหวตเลือกนายกฯ ยืดเยื้อหลายรอบ จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ประกอบกับมีเหตุจากคำวินิจฉัยชี้ขาดในคดีต่างๆ จนเป็นชนวนก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ ที่หลายฝ่ายกังวลว่าหากรุนแรง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะรุนแรงตามไปด้วย

ทั้งหมดนี้คือโจทย์ใหญ่ที่สมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คนต้องช่วยกันคิด จะนำพาประเทศออกจากความไม่แน่นอนทางการเมืองนี้อย่างไร ไม่ใช่เพื่อพรรคการเมืองใด แต่เพื่อให้ประเทศขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไปได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน