FootNote:เพื่อไทย ก้าวไกล เผชิญประสบ เบื้องหน้า การมีอยู่ของ MOU

หากติดตามรายละเอียด “การดีล” ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล นับแต่หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม เป็นต้นมา ก็จะสัมผัสได้ในความอ่อนไหวในแต่ละขั้นตอน

สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ของพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล เป็นความสัมพันธ์อย่างเป็นพิเศษ

ดำรงอยู่อย่างมีการ “ร่วม” ดำรงอยู่อย่างมี “การต่อสู้”

นั่นก็สัมผัสได้จากการมีเงื่อนไขในการต่อรองในห้วงเวลา ก่อนมีการลงนามร่วมผ่าน “บันทึกช่วยจำ” หรือ MOU ก่อนเวลา 16.00 น.ของวันที่ 22 พฤษภาคม

นั่นก็สัมผัสได้จากแต่ละกระบวนท่าของพรรคเพื่อไทย ที่มีการต่อรองกับพรรคก้าวไกลในตำแหน่ง “ประธานสภา” และในที่สุดหวยก็ออกที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา

นั่นก็สัมผัสได้จากแต่ละกระบวนท่าของพรรคเพื่อไทย เมื่อตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เป็นความรับผิดชอบในมือของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย

ถามว่าทำไมเป้าหมายสำคัญจึงย้อนกลับไปเน้นที่ “บันทึกช่วยจำ” หรือ MOU

ขณะเดียวกัน กระบวนท่าก็แปรเปลี่ยนอย่างน่าสนใจ

กระบวนท่าเมื่อเผชิญกับเนื้อหาและรายละเอียดของ MOU นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ลงมือด้วยตนเอง ท่ามกลางสายตาจาก 7 พรรคอันเป็นพันธมิตรทางการเมือง

อาศัยเงื่อนเวลาที่กำหนดอยู่ที่ 16.00 น.ของวันที่ 22 พฤษภาคมมาเป็นเครื่องต่อรอง วัดใจพรรคเพื่อไทย

นี่เป็นจังหวะเดียวกันก่อนการเลือก “ประธานสภา”

ขณะเดียวกัน เมื่อต้องจัดการกับ MOU แทนที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว จะออกโรงเอง หรือเป็นภาระบนบ่าของ นายอดิศร เพียงเกษ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด

ตรงกันข้าม ที่เป็นทัพหน้าในการเคลื่อนไหวกลับเป็น “เสื้อแดง” ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงจากปทุมธานี ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงจาก 50 เขตของกรุงเทพมหานคร

แต่ละยุทธวิธีล้วนเป็นโจทย์แหลมคม เสนอต่อพรรคก้าวไกล

ต้องยอมรับว่าการเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทยต่อบทบาท และความหมายของ MOU เกิดขึ้นก่อนการประชุมร่วม 8 พรรคพันธมิตร ก่อนการประชุมรัฐสภา

สะท้อนบทบาทของ MOU ยืนยันแนวทางพรรคเพื่อไทย

ความน่าสนใจไม่เพียงจะอยู่ที่พรรคก้าวไกลเกาะอยู่กับบันทึกช่วยจำหรือ MOU อย่างเหนียวแน่นและมั่นคง อันเท่ากับยืนยันในพันธมิตร 8 พรรคว่าทรงความหมาย

นี่ย่อมเป็น “โจทย์” นี่ย่อมเป็น “การบ้าน” อันยากยิ่งขณะที่พรรคเพื่อไทยมี “คำตอบ” ของตัวเองอยู่ก่อนแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน