ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนช่วงวันแม่ 12 ส.ค.2566 ซึ่งจะมีวันหยุดติดต่อ 3 วัน

ผลสำรวจระบุปริมาณการใช้จ่ายเมื่อเทียบกับ ปีก่อนลดลงเกือบทุกกิจกรรม ส่วนใหญ่ 42.7 เปอร์เซ็นต์ ใช้จ่ายเท่าเดิม ขณะที่ 36.8 เปอร์เซ็นต์ ใช้จ่ายลดลง และ 20.6 เปอร์เซ็นต์ ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

สาเหตุที่คนตอบว่าใช้จ่ายลดลงนั้น ให้เหตุผลต้องการประหยัดเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น หนี้มากขึ้น เศรษฐกิจยังไม่ดี ไม่มีความมั่นคงด้านรายได้ และรายได้ลดลง

คาดช่วงวันแม่ปีนี้เงินสะพัดในระบบลดลงจากปีก่อน 2.3 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากคนใช้จ่ายระมัดระวัง ประหยัดมากขึ้น ค่าครองชีพสูง และส่วนใหญ่มีภาระหนี้สิน

จากผลสำรวจศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ม.หอการค้าไทย เปรียบเทียบพบว่าเม็ดเงินสะพัดน้อยลงเหมือนปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงโควิดระบาด แสดงว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณผิดปกติ

โดยเริ่มเห็นอาการซึมๆ จากปัญหาทางการเมืองตั้งแต่เดือนมิ.ย.2566 อีกทั้งยังมีปัญหาสินค้าแพง ค่าไฟฟ้า น้ำมันแพง รายได้ไม่พอจ่าย จนคนเริ่มกลัวว่าจะตกงาน

สอดคล้องกับที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ช่วง 12-14 ส.ค. การเดินทางท่องเที่ยวจะไม่ค่อยคึกคัก ซึ่งอาจเป็นผลจากก่อนหน้ามีวันหยุดยาว 6 วัน คนส่วนใหญ่ใช้เงินไปแล้ว ประกอบกับค่าน้ำมันแพง สินค้า และบริการต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น

นี่คือคาดการณ์จากผู้เชี่ยวชาญภาคเศรษฐกิจ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุใหญ่ก็คือปัญหาสุญญากาศทางการเมือง รอคอย นายกฯ และรัฐบาลชุดใหม่

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ รักษาการ ตอบคำถามถึงกรณียังตั้งรัฐบาลใหม่ไม่ได้ ทำให้เป็นห่วงเศรษฐกิจ และปีงบประมาณที่จะล่าช้าออกไป โดยยอมรับว่าน่ากังวล

โดยนายวิษณุระบุว่าสมมติได้รัฐบาลเดือนก.ย. กว่าจะทำงบฯ ได้ต้องแถลงนโยบายให้เสร็จก่อน อาจจะอยู่ช่วงปลายก.ย. หรือต้นต.ค. แล้วต้องใช้เวลาอีก 1 เดือนในการทำงบฯ ทำให้งบฯ ปี 2567 เข้าสภาประมาณพ.ย.-ธ.ค. แล้วต้องใช้เวลาอยู่ในสภาอีก 3 เดือน จังหวะนั้นพอดีกับการทำงบฯ ปี 2568 ทำให้งบฯ 2 ปีซ้อนกัน

นี่คือคาดการณ์ที่เร็วสุดตามที่นายวิษณุอธิบาย แต่ถ้าหลังวันที่ 16 ส.ค. มีเหตุให้ต้องเลื่อนการโหวตเลือกนายกฯ ออกไปอีก ย่อมส่งผลต่อการจัดทำงบฯ การกู้วิกฤตเศรษฐกิจลากยาวตามไปด้วย

สุดท้ายส่งผลกระทบหนักต่อประชาชนใช้จ่ายน้อยลง ต้องรัดเข็มขัด กระเป๋าแห้งต่อไปอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน