การเคลื่อนไหวแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มทะลุวัง ทั้งที่กระทรวงวัฒนธรรม และบริเวณหน้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย

นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บางส่วนมองว่าเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ขณะที่บางส่วนมองว่าเป็นพฤติกรรมที่เกินเลยไม่เหมาะสม

นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรต์ วอตช์ ประจำประเทศไทย ชี้ว่า เป็นพฤติกรรมที่ล้ำเส้นการแสดงออกอย่างสันติ ผู้กระทำจึงควรขอโทษสังคมและรับปากจะไม่ทำอีก เพราะไม่ใช่แค่ทำให้เสียแนวร่วมและการยอมรับจากสังคมในประเทศ

แต่ยังเสียความคุ้มครองภายใต้กติกาสากลที่เคยได้รับในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญช่วยคุ้มครองเวลาถูกรัฐเล่นงานด้วยมาตรการต่างๆ

ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด นักกิจกรรมทางการเมือง ให้ความเห็นเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นการสื่อสารเพื่อชี้ว่าปัญหาของประเทศคืออะไร โดยใช้รูปแบบการเคลื่อนไหวดึงดูดความสนใจของสื่อและสังคม

ความท้าทายของการเคลื่อนไหวส่วนหนึ่งเกิดจากรูปแบบและวิธีการประท้วง เพราะวิธีการปกติไม่สามารถดึงดูดความสนใจของสาธารณชนได้

นักเคลื่อนไหวจึงพัฒนาระดับความแรงของการเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ จนบางครั้งความแรงของรูปแบบบดบังเนื้อหาหรือเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารปัญหาที่ตั้งใจไว้

การเคลื่อนไหวทางการเมืองยังต้องพิจารณาเรื่องการสร้างแนวร่วม สร้างการยอมรับ ต้องพยายามทำให้ฝ่ายเดียวกันเห็นด้วยและฝ่ายที่อยู่กลางๆ เห็นด้วยหรือไม่ต่อต้าน

การสะสมแนวร่วมเป็นงานระยะยาวต้องระมัดระวังที่จะทำมันพัง

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ข้อคิดว่า หากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ต้องทำงานเชิงความคิด มียุทธศาสตร์ ต้องอดทน ใช้สติ และปัญญาในการขับเคลื่อน

แสวงหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ขยายแนวคิด ยืดหยุ่น ผ่อนปรน แต่ไม่ละทิ้งอุดมการณ์ ข้อสำคัญการใช้ความรุนแรงและคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง มีแต่จะลดทอนความชอบธรรมและบดบังอุดมการณ์

นอกจากนี้ในแวดวงอาจารย์นักวิชาการ มีหลายท่านที่เข้าใจความรู้สึกของกลุ่มเคลื่อนไหวที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน แต่ก็เห็นว่าทางกลุ่มควรต้องทบทวนพฤติกรรมการแสดงออกเสียใหม่

ใช้วิธีการสร้างสรรค์ ไม่ก้าวร้าวรุนแรง สะสมแนวร่วม สร้างการยอมรับจากสังคม ไม่ให้เกิดกระแสตีกลับในการเคลื่อนไหวครั้งต่อๆ ไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน