ส่งผลกระทบต่อตลาดอาหารทะเลในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย กรณีญี่ปุ่นปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะไดอิจิลงทะเล ซึ่งเป็นไปตามแผนการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่บำบัดแล้ว

นับจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิปี 2554 ซึ่งใช้เวลาบำบัด 12 ปี และจะทยอยปล่อยน้ำเหล่านี้ลงมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเวลา 30 ปีนับจากนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา

แม้ทางการญี่ปุ่นยืนยัน น้ำที่ปล่อยลงทะเลนั้นปลอดภัย ได้รับการรับรองจากองค์การพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติ

แต่ก็ยังก่อให้เกิดความวิตกกังวลทั้งจากคนญี่ปุ่นเอง รวมถึงประเทศใกล้เคียงที่นำเข้าสินค้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามรายงานข่าวระบุ ญี่ปุ่นใช้ระบบปั๊มและกรองน้ำขั้นสูงที่เรียกว่า “เอแอลพีเอส” เพื่อบำบัดน้ำเสียจนมีระดับกัมมันตรังสีต่ำถึงระดับมาตรฐานที่ยอมรับได้

แต่การบำบัดขั้นสูงนี้ขจัดสารอย่างทริเทียม และคาร์บอน-14 ออกไปไม่ได้หมด สารทริเทียมและคาร์บอน-14 เป็นสารกัมมันตรังสีในรูปแบบของไฮโดรเจนและคาร์บอน ที่คัดแยกออกจากน้ำได้ยากมาก

ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความกังวลต่อการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมประมง และอาหารทะเลในญี่ปุ่น รวมถึงในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

ขณะที่ประเทศไทยมีความตื่นตัวในเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งสถิติร้านอาหารญี่ปุ่นของไทยปี 2565 มีจำนวนมากกว่า 5,300 ร้าน

ล่าสุด คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า อย. ผนึกกำลังกับกรมประมง สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กำหนดมาตรการตรวจสอบอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น ป้องกันไม่ให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีเกินมาตรฐานกำหนด

อย่างไรก็ตามจากการสุ่มตรวจอาหารทะเลจากญี่ปุ่น นับตั้งแต่เกิดเหตุในจังหวัดฟูกุชิมะเมื่อปี 2554 ผลตรวจไม่พบตัวอย่างอาหารที่มีปริมาณกัมมันตรังสีเกินเกณฑ์มาตรฐาน

แต่เพื่อคลายความวิตกกังวลของผู้บริโภคต่อสถานการณ์ปัจจุบัน มีข้อแนะนำให้ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยปรับเปลี่ยนแหล่งซื้อวัตถุดิบ หรือออกแบบเมนูใหม่หันมาใช้เนื้อสัตว์อื่นแทน

สำหรับประชาชนทั่วไป ให้ติดตามข่าวสารจากทางการอย่างใกล้ชิด ไม่หลงเชื่อข่าวลือในโลกโซเชี่ยล จนเกิดความตื่นตระหนกมากจนเกินไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน