ขณะนี้ยังมีสถานการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วม โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ต่อเนื่องลงมาถึงภาคกลาง เนื่องจากเป็นพื้นที่ ราบลุ่มรับน้ำต่อจากภาคเหนือ ผ่านพื้นที่ปริมณฑล และกรุงเทพฯ ก่อนไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย

ปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน ลมมรสุม ตั้งแต่เดือนส.ค.ถึงเดือนต.ค. และเมื่อถึงปลายเดือนธ.ค.-ม.ค. น้ำก็จะท่วมพื้นที่ภาคใต้

ทำให้ประเทศสูญเสียงบประมาณในการเยียวยาชดเชยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และงบฯ ซ่อมแซมสิ่งสาธารณูปโภค เช่น ถนน สะพาน ที่พังชำรุดเสียหายจากน้ำท่วม

เป็นวงจรซ้ำซากเช่นนี้ทุกปี

นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.พรรคเพื่อไทย อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมชี้สาเหตุว่าเป็นเพราะน้ำที่ไหลลงมาอย่างรวดเร็วจากภูเขาในพื้นที่เขาหัวโล้น แม้จะมีเขื่อนกี่เขื่อนก็ตาม สุดท้ายก็ต้องระบายลงสู่แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

หลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนโยบายที่จะสร้างโครงการฟลัดเวย์ เพื่อระบายน้ำ 2 ข้างฝั่งตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ให้มวลน้ำท่วมภาคกลาง ปริมณฑล และกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ฟลัดเวย์ยังไม่ใช่การระบายน้ำ อย่างเดียว แต่บริเวณ 2 ฟากฝั่งยังมีถนนสำหรับเดินทางจากภาคตะวันตกไปภาคเหนือ และจากภาคตะวันออกไปภาคเหนืออีกด้วย

แต่โครงการไม่เกิดขึ้น เพราะเกิดรัฐประหาร 2557








Advertisement

การก่อสร้างฟลัดเวย์เส้นทางระบายน้ำขนาดใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริหารจัดการน้ำ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาลุ่มน้ำภาคเหนือ และภาคกลางทั้งระบบ รวมถึงส่วนหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แต่ช่วงปี 2554-2557 เกิดวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรง มีการหยิบยกโครงการนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการกล่าวหาโจมตีทางการเมือง ในที่สุดรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารสั่งยุติโครงการ

ตลอดระยะเวลา 9 ปีจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีนโยบาย โครงการ หรือวิสัยทัศน์อะไรใหม่ๆ ต่อการแก้ปัญหาเพื่อทุเลาบรรเทาอุทกภัย ยังคงใช้วิธีการเฉพาะหน้า สูญเสียงบฯ จำนวนมาก เพื่อเยียวยาดูแล ซ่อมแซม วนเวียนเช่นนี้ทุกปี

อุทกภัยล่าสุดนี้หวังว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้น ที่รัฐบาลจะไม่สูญเสียโอกาสในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน