โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มาถึงจุดที่นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ขอให้ประชาชนที่เห็นด้วยส่งเสียงสนับสนุนโครงการดังกล่าวให้ดังฟังชัดอีกครั้ง

ตามกลไกของระบอบประชาธิปไตยให้ประชาชนส่งเสียงสะท้อนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในโครงการที่มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

แม้ว่าผลการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลมอบความเห็นชอบให้พรรคเพื่อไทยดำเนินนโยบายหลักในการหาเสียงนี้ไปแล้ว แต่รัฐบาลแจ้งว่ายังเปิดกว้างในการรับฟัง รวมถึงเสียงของผู้ที่คัดค้าน เพียงแต่ขอให้มีเหตุผล

รัฐบาลจะไม่ยอมให้คนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผล มายับยั้งโครงการนี้

ในบรรดาเหตุผลที่นักเศรษฐศาสตร์ นักการเงินการธนาคาร นักวิชาการส่วนหนึ่งคัดค้านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ระบุถึงการใช้งบประมาณในโครงการจำนวนมาก ราว 5.6 แสนล้านบาท ที่ผลลัพธ์อาจได้ไม่คุ้มเสีย

มีข้อกังวลถึงเงินเฟ้อ เพิ่มหนี้ หรืออาจนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ที่อาจกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ส่วนข้ออ้างที่มีเหตุผลน้อยที่สุดคือ การยกโครงการจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถูกยึดอำนาจโดย คสช. เมื่อปี 2557 มาเปรียบเทียบว่าเป็นความล้มเหลวและสร้างปัญหาให้ประเทศในระยะยาว

ทั้งที่โครงการจำนำข้าวถูกยุติหรือถูกทำให้ดูเหมือนล้มเหลว ด้วยกระบวนการละเมิดและทำลายประชาธิปไตย หรือการรัฐประหารที่ส่งผลให้เศรษฐกิจซึมเรื้อรัง พร้อมหนี้ก้อนใหญ่ที่รัฐบาล 8 ปีก่อนหน้า สร้างขึ้นกว่า 5.2 ล้านล้านบาท

ฝ่ายเห็นด้วยเชื่อว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ไม่มีทางจะซ้ำรอยโครงการจำนำข้าวได้ หากกติกาและกลไกทางประชาธิปไตยยังดำเนินอยู่เช่นปัจจุบัน

เสียงสนับสนุนให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกระจายเงินลงไปยังประชาชนในระดับฐานรากอย่างทั่วถึง มีแต่จะผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับ 5% จากเดิม 2% ต่อปี ซึ่งหมายถึงการมีเสถียรภาพเศรษฐกิจ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

ส่วนเสียงท้วงติง ชี้จุดอ่อน และเสนอแนะ จากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ด้านดีคือมีส่วนช่วยในการปรับปรุงโครงการให้ดีขึ้น รอบคอบขึ้น ทั้งในเรื่องที่มาแหล่งเงินที่ใช้ในโครงการ กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่ขอบเขตการใช้จ่าย และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในอนาคต

แต่ต้องไม่ใช่การปลุกผีต่อต้านประชาธิปไตยขึ้นมาหลอกหลอนคน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน