FootNote:บทเรียน จาก ประชาธิปัตย์ ใน “วิกฤต” ย่อมเป็นโอกาส

การต่อสู้ภายในพรรคประชาธิปัตย์กำลังกลายเป็น “บทเรียน” อันมากด้วยคุณค่าในทางการเมือง

เป็นคุณค่าจากความรุ่งโรจน์และความเสื่อมของพรรคๆหนึ่ง

พรรคประชาธิปัตย์เคยสร้างนายกรัฐมนตรีเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น นายควง อภัยวงศ์ ไม่ว่าจะเป็น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ไม่ว่าจะเป็น นายชวน หลีกภัย ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ทั้งนี้แทบไม่นับว่าพรรคประชาธิปัตย์ มีส่วนในการหนุนเสริมให้ได้นายกรัฐมนตรี ในท่ามกลางวิกฤตและความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่น่าสนใจก็คือการเข้าไปหนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เท่ากับเปิดโอกาสทำให้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีในระยะต่อมา

ขณะที่การเข้าไปขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กลับเป็นเงื่อนไขอันใหญ่หลวง ก่อให้เกิดความแตกแยกภายในพรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งกลายเป็นวิกฤต

บทเรียนแต่ละบทเรียนจึงเป็นเหมือน “ครูด้านกลับ”

หากถือเอา นายชวน หลีกภัย เป็นสดมภ์หลักของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากสะสมบทเรียนและความจัดเจนตั้งแต่ยุค จอมพล ถนอม กิตติขจร กระทั่งยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ต้องยอมรับว่าการตัดสินใจของ นายชวน หลีกภัย มีส่วนในการกำหนดทิศทางการไหวเคลื่อนของพรรคประชาธิปัตย์

ไม่ว่าจะในยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่ว่าจะในยุคของ พล.อ.สรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่ว่าจะในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เชื่อได้เลยว่าทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้ง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ซึ่งถือว่าอยู่ในฐานะผู้สืบทอดจักต้องนำเอาบทเรียนจากการ นำในทางจิตวิญญาณของ นายชวน หลีกภัย มาเป็นเครื่องเตือนใจ

ผลการเลือก “หัวหน้าพรรค” ก่อนวันที่ 9 ธันวาคมจึงสำคัญ

สำคัญไม่เพียงแต่ต่อพรรคประชาธิปัตย์ หากแม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ ก็พึงสังวร

ยิ่งพรรคเพื่อไทย ยิ่งพรรคก้าวไกล ยิ่งจำเป็นต้องติดตาม

การศึกษาและทำความเข้าใจต่อพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่แรกก่อตั้งเมื่อปี 2489 เติบใหญ่และพัฒนากระทั่งประสบกับวิกฤต ที่จำเป็นต้องแก้ไขในปี 2566 จึงมีคุณค่า

มีคุณค่าในการทำความเข้าใจ ต่อพัฒนาการของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ภายใน “วิกฤต” แห่งพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็น “โอกาส”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน