สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไตรมาส 3 ประจำปี 2566 โดยรวมอยู่ที่ระดับ 54.99 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 54.83

ซึ่งมาจากการปรับเพิ่มของความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 55.46 จาก 55.10 ส่วนด้านสังคมอยู่ที่ระดับ 51.55 จาก 51.37 ขณะที่ด้านความมั่นคงปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 57.96 จาก 58.01

ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากภาคเกษตร เพราะเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลไม้ภาคใต้ และความชัดเจนทางการเมือง

โดยเฉพาะนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ปัญหาภาระค่าครองชีพ

เมื่อแยกลงไปในรายจังหวัด พบว่า จ.สตูล มีความเชื่อมั่นโดยรวมสูงสุดอยู่ที่ระดับ 60.55 เนื่องจากความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงอยู่ในระดับสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและสังคม อยู่ในระดับใกล้เคียงกับจังหวัดอื่นๆ

ส่วนจังหวัดรองลงมา ได้แก่ จ.สงขลา อยู่ที่ระดับ 56.18 จ.นราธิวาส ระดับ 53.94 จ.ปัตตานี ระดับ 53.63 และ จ.ยะลา ระดับ 53.32 ตามลำดับ

สำหรับปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กังวลมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ภาระค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพียงพอ และปัญหายาเสพติด

กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นชายแดนภาคใต้ จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย ที่จะใช้แก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม และใช้ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมปรับตัวดีขึ้น แต่เมื่อเจาะจงเฉพาะความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงชายแดนภาคใต้นั้น ปรากฏว่าปรับลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า

ต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบนั้น ล่าสุดนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้

โดยมีข้อมูลจากการประชุมที่น่าสนใจ คือภาคสังคมอยากให้แต่งตั้งพลเรือนเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเจรจา และการฟื้นคืนสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งถูกยกเลิกไปหลังรัฐประหาร 2557

ดังนั้น ทั้ง 2 เรื่องนี้รัฐบาลควรทบทวนพิจารณานำกลับมาใหม่ เพราะก่อนรัฐประหารเคยใช้จนเป็นผลดีต่อการสร้างสันติภาพชายแดนใต้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน