FootNote บาทก้าวแรก ประชาธิปัตย์ การเลือก บอร์ด ประกันตน

วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม กำลังจะกลายเป็นวันอันทรงความหมายสำคัญในทางการเมือง เนื่องแต่เป็นวันเลือกตั้ง “บอร์ด กองทุนประกันตน” ครั้งแรก

หากมองจากจำนวนผู้ประกันตนที่มีมากถึง 40 กว่าล้านก็ต้องยอมรับว่านี่เป็นการเลือกตั้งในระดับใหญ่

จะเป็นรองก็แต่เพียงการเลือกตั้ง สส.เท่านั้น

ไม่ว่าจะเทียบกับการเลือกตั้งระดับนายกอบจ. ระดับนายกอบต. ระดับนายกเทศมนตรี หรือแม้กระทั่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็ถือว่าการเลือกตั้ง “บอร์ดกองทุนประกันตน” มหึมากว่า

ยิ่งกว่านั้น หากมองไปยังจำนวนเงินกองทุนประกันตนที่มีอยู่มากกว่า 2.2 ล้านล้านบาท ก็ถือได้ว่าใหญ่ไม่น้อยกว่าจำนวนเงินงบประมาณรายจ่ายของแต่ละปี

ยิ่งกว่านั้น ก็ต้องยอมรับว่านับแต่มีการจัดตั้งกองทุนประกันตนขึ้นเมื่อ 30 กว่าปีก่อนก็ต้องถือว่าการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคมเป็นครั้งแรก

เนื่องจากก่อนหน้านี้ล้วนอยู่ในการบริหารจัดการโดยบอร์ดกองทุนอันมาจากรัฐบาล อันมาจากกระทรวงแรงงาน

บทบาท “กองทุน” มีสูงเพียงใด ความหมาย “บอร์ด” ยิ่งสำคัญ

เมื่อมองไปยังจำนวนผู้มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง “บอร์ด” ครั้งนี้ที่มีอยู่เพียง 8 แสนกว่าคน เมื่อเทียบกับจำนวนทั้งหมด 40 กว่าล้านตนก็ต้องยอมรับเป็นจำนวนที่น้อยมาก

อาจเป็นครั้งแรกที่มีปรากฏการณ์เช่นนี้ อาจเป็นกลไกในการบริหารจัดการยังไม่ดีเพียงพอ

โดยเฉพาะการพีอาร์ ประชาสัมพันธ์ที่ยังไม่ทั่วถึง

จึงสัมผัสได้ว่าความตื่นตัวของ “ผู้ประกันตน” ดำรงอยู่อย่างไม่ครอบคลุม นั่นก็คือ มีความเงียบเฉยจากด้านรัฐบาล มีความสงบนิ่งจากด้านของนายจ้าง

ที่เห็นการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักเป็นเพียงการเคลื่อนไหวใน ด้านของ “ลูกจ้าง” ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างในแบบ “ออฟฟิศ” ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างในแบบ “โรงงาน”

ยิ่งกว่ากระแสก็ยังไม่แผ่คลุมเข้าไปในกลุ่ม “พรรคการเมือง”

ภายในความไม่พร้อม ภายในอุปสรรคที่ปรากฏขึ้นตลอดสองรายทาง กระทั่งเกิดเสียงเรียกร้องให้มีการขยายระยะเวลาในการแสดงตนเพื่อใช้สิทธิ์ออกไป

อาจก่อให้เกิดความกังวล ห่วงใยว่าผลอาจออกมาไม่ดีนัก

กระนั้น จำเป็นต้องยอมรับว่าทุกสถานการณ์ที่เป็นการเริ่มต้นหนแรกที่เกิดขึ้นและตามมาย่อมไม่ราบรื่น แต่ในความไม่ราบรื่นนั้นย่อมเป็น “บทเรียน” อันทรงความหมาย

ไม่ว่าต่อ “ผู้ประกันตน” ไม่ว่าต่อหน่วยงานของ “รัฐ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน