ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย 3 คดีความสำคัญทางการเมือง ต่อเนื่องวันที่ 17, 24 และ 31 มกราคม

คดีแรก ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยเรื่องพิจารณาที่ 8/2566 เรื่องที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น

ทำให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี มาตรา 4 (1)

เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ ในวันที่ 17 มกราคม

คดีที่สอง เรื่องพิจารณาที่ 23/2566 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส. เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อสารมวลชนใด อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สภาพ สส. ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ ในวันที่ 24 ม.ค.

คดีที่สาม เรื่องพิจารณาที่ 19/2566 กรณีที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ในวันที่ 31 ม.ค.

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย เป็น รมว.คมนาคม สมัย ‘รัฐบาลประยุทธ์ 2’ ต่อมาวันที่ 3 มีนาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องกรณีดังกล่าว และมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีจนกว่าศาลจะมีคําวินิจฉัย








Advertisement

ส่วนกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.ชั่วคราว เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน

ภายหลังจัดตั้ง ‘รัฐบาลเศรษฐา’ พรรคก้าวไกลมีสถานะเป็นแกนนำฝ่ายค้าน แต่นายพิธาไม่สามารถเป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ จึงลาออกจากหัวหน้าพรรคเมื่อ 15 กันยายน โดยนายชัยธวัช ตุลาธน ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

เริ่มต้นเดือนแรกศักราชใหม่ คำวินิจฉัยชี้ขาด 3 คดีสำคัญเป็นที่จับตาของสังคม เพราะไม่ว่าผลลัพธ์ออกมาอย่างไรย่อมมีส่วนต่อทิศทางการเมือง แต่ถึงที่สุดทุกฝ่ายก็ต้องยึดหลักเคารพในกระบวนการยุติธรรม พร้อมๆ กับกระบวนการยุติธรรมก็ต้องเที่ยงธรรมตรงไปตรงมา มีหลักกฎหมายอธิบายได้ชัดเจน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน