การยื่นญัตติขออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติของสมาชิกวุฒิสภา 98 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินในช่วง 4 เดือน แม้จะเป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด

ประชาชนคงคาดหมายได้ว่าสมาชิกวุฒิสภาดาวเด่นที่จะอภิปรายเป็นใครบ้าง แม้ว่าในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยาวนานกว่า 9 ปีจะไม่เคยเห็นบทบาทนี้ของ สว.ชุดเดียวกันมาก่อนเลย

อาจเพราะการเมืองไทยผันสู่กระบวนการทางประชาธิปไตยมากขึ้น การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเปิดเผย ไม่ต้องเกรงอกเกรงใจหรือเกรงกลัว จึงมีมากขึ้นด้วย

แม้รัฐบาลเริ่มการทำงานมาไม่นานนัก แต่วาระของ สว.ที่มาจากการแต่งตั้งจากหัวหน้าคณะรัฐประหารก็เหลือไม่มากนักเช่นกัน

สำหรับนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เศรษฐา ทวีสิน กล่าวตอบรับหลายครั้งว่าเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ สว.จะทำได้ และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องชี้แจง เพียงขอให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีวิธีการสื่อสารที่ถูกต้อง

“หากมีการตอบอย่างชัดเจนแล้ว เป็นไปตามหลักนิติธรรมแล้ว ถึงจุดหนึ่งก็ต้องพอ” เป็นคำชี้แจงล่วงหน้าที่คาดเดาได้ว่านายกรัฐมนตรีหมายถึงเรื่องใด จาก 7 หัวข้อที่สว.ขอยื่นอภิปราย

โดยเฉพาะประเด็นดราม่าที่ยืดเยื้อมานานเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษา ซึ่งยังมีข้อถกเถียงระหว่างตัวบุคคลกับข้อบังคับตามกฎหมายในกรณีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และผูกโยงมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน

แม้เรื่องนี้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแถลงนโยบายของรัฐบาลเมื่อ 4 เดือนก่อน








Advertisement

อีกประเด็นสำคัญที่สมาชิกผู้ขอเปิดอภิปรายกางข้อสอบให้รัฐบาลได้เห็นล่วงหน้า คือโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ของรัฐบาล เป็นอีกหัวข้อใหญ่ที่ สว.ยื่นขออภิปราย แม้ว่าโครงการนี้ยังไม่แจ้งเกิด

เนื่องจากเป็นโครงการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนทั้งในด้านแนวคิดและเทคโนโลยี จึงทำให้บุคคลและองค์กรอิสระโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ใน “เซฟโซน” ด้านเศรษฐกิจหวั่นไหว

วาระการอภิปรายครั้งนี้จะเป็นโอกาสของรัฐบาล ในการชี้แจงขั้นตอนที่นำไปสู่การปฏิบัติให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากเฝ้ารออยู่ พร้อมความหวังอยากให้โครงการนี้บรรลุผลโดยเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน