FootNote เอกลักษณ์ ลักษณะ เพื่อไทย สะท้อนผ่าน ทีมงาน “โฆษก”

การจัดทีมโฆษกของพรรคเพื่อไทยสะท้อนเอกลักษณ์และความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ภายใต้การเปลี่ยนแปลงใหม่ได้อย่างชัดเจน

ด้านหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อ นายดนุพร ปุณณกันต์ ด้านหนึ่ง ยืนยันความจำเป็นในการปรับ

หากมองจากการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว มาเป็น นส.แพทองธาร ชินวัตร เลขาธิการพรรคจาก นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เป็น นายสุรวงศ์ เทียนทอง ก็ชัดเจน

ความหมายก็คือ การพยายามเชื่อมความสำเร็จจากยุคพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ว่ายังดำรงคงอยู่อย่างเหมาะสมในยุคพรรคเพื่อไทยปัจจุบัน

จึงมองเห็นภาพ นายทักษิณ ชินวัตร มองเห็นภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะเดียวกัน ก็มองเห็นภาพของ นายเสนาะ เทียนทอง

ภาพของทีมโฆษกพรรคเพื่อไทยก็ดำรงอยู่เหมือนกับภาพหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค นั่นก็คือ รักษารากฐานเก่าและเสริมความใหม่เข้าไปภายในองค์ประกอบนั้น

สะท้อนการยึดโยงอดีตกับปัจจุบันและโยงสู่อนาคต








Advertisement

ถามว่าเมื่อเห็นรายชื่อรองโฆษก จาก นส.ขัตติยา สวัสดิผล น.ส.ชญาภา สินธุไพร นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ นายจิรวัฒน์ อรัญยกานนท์

ก่อให้เกิดความรู้สึก นำไปสู่ความเข้าใจอย่างไรในทางการ เมือง

ไม่ว่ารากฐาน น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ไม่ว่ารากฐาน น.ส.ชญาภา สินธุไพร ไม่ว่ารากฐาน นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สามารถอธิบายได้ถึงภาพในทางการเมือง

ภาพแห่งพรรคไทยรักไทย ภาพแห่งพรรคพลังประชาชน ภาพแห่งพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 กระทั่งหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

ขณะที่ภาพของ นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ฉายสะท้อนให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของพรรคอนาคตใหม่และการแปรเปลี่ยน

และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอะไรคือปัจจัยทำให้ต้องมีการปรับ

การปรับและเสริมเติมทีมงานโฆษกเป็นการปรับบนรากฐานแห่งการแปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วของการเมืองและความเรียกร้องต้องการจากภายในพรรคเพื่อไทย

เป็นการเมืองหลังสถานการณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566

เป็นการเมืองที่พรรคเพื่อไทยดำรงอยู่ในสถานะแห่ง “รัฐบาลพิเศษ” ที่ด้านหนึ่งต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง ด้านหนึ่งต้องสร้างผลงานและทำความเข้าใจกับสังคม

การสื่อสารระหว่างพรรคเพื่อไทยกับสังคมจึงมีความสำคัญอย่างรีบด่วนอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน