ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ทั้งยังเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมืองต่อเนื่อง จากการที่สมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง กำหนดให้เป็นหัวข้อหลักในการเปิดอภิปรายคณะรัฐบาล

ท่ามกลางข้อถกเถียงที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในขั้นวิกฤต จนต้องออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ขับเคลื่อนโครงการพลิกฟื้นสถานการณ์อย่างเร่งด่วนหรือไม่

ล่าสุด “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “วิกฤตเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต” จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง ทั่วประเทศ

ผลสำรวจเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายทั้ง “ผู้เห็นตรง” และ “ผู้เห็นต่าง”

ต่อข้อถามเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจไทยขณะนี้ ร้อยละ 63.51 ระบุ เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในระดับต้องหาทางแก้ไขเร่งด่วน ร้อยละ 20.15 เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในระดับที่ต้องหาทางแก้ไข แต่ไม่เร่งด่วน

ร้อยละ 10.08 เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจระดับไม่น่าวิตกกังวลใดๆ ร้อยละ 5.65 ไม่ได้เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ

สำหรับการเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจขณะนี้ ร้อยละ 36.72 ระบุ เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในระดับต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน

ร้อยละ 31.91 เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในระดับที่รับมือได้ด้วยตนเอง ร้อยละ 20.45 เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจในระดับต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ไม่เร่งด่วน และร้อยละ 10.92 ไม่ได้เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจใดๆ








Advertisement

ทั้งหมดไม่ใช่ความคิดเห็น แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ประชาชนส่วนใหญ่เผชิญอยู่

โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายโครงการ ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ แนวทางดำเนินโครงการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขและแหล่งที่มาของเงิน

รวมถึงพิจารณาข้อเท็จจริง ความเห็น ข้อสังเกตจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน อย่างรอบคอบรอบด้าน เมื่อพิจารณาจนได้ข้อยุติจึงจะเสนอ ครม.

หาก ครม.เห็นชอบจะเข้าสู่ขั้นตอนเสนอร่างพ.ร.บ.กู้เงิน ต่อสภาผู้แทนราษฎร ร่วมพิจารณารายละเอียดต่างๆ หากได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ก็ยังมีกระบวนการตรวจสอบจากศาลรัฐธรรมนูญ

ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามวิถีประชาธิปไตยตั้งแต่ขั้นตอนออกกฎหมาย การตรวจสอบ และหัวใจสำคัญคือการเปิดรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนอย่างตรงไปตรงมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน