เกิดเป็นกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง วินิจฉัยว่า การกระทำของนายพิธา และพรรคก้าวไกล ในการเสนอร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง

และสั่งให้นายพิธา และพรรคก้าวไกล เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติเอาไว้ว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้”

เบื้องต้นแม้ผู้ร้องในคดีนี้ เพียงขอให้ศาลสั่งยุติการกระทำเท่านั้น แต่ผลจากคำวินิจฉัยดังกล่าวถูกมองอาจเป็นสารตั้งต้น นำไปสู่กระบวนการส่งผ่าน กกต. กลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

ภายใต้คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค

นอกจากนี้ยังอาจมีผู้นำคำวินิจฉัยเดียวกันยื่นร้องต่อป.ป.ช. ส่งศาลฎีกาพิจารณาเอาผิดทางจริยธรรม 44 สส. ซึ่งมีนายพิธา รวมอยู่ด้วย ที่ได้ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อปี 2564








Advertisement

ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต

ประวัติศาสตร์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง เริ่มตั้งแต่พรรคไทยรักไทยและ 3 พรรคเล็ก เมื่อปี 2550, ยุบพรรคพลังประชาชน ปี 2551, ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ปี 2562 และยุบพรรคอนาคตใหม่ ปี 2563

มาในปี 2567 ได้มีผู้แสดงตนเข้ายื่นร้องต่อ กกต. เพื่อผ่านไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้คำวินิจฉัยในคดีล้มล้างการปกครองฯ เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นสารตั้งต้นในการยื่นร้องยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค

ไม่ว่าสุดท้ายปลายทางจะออกมาเช่นไร เป็นเรื่องปกติที่คำวินิจฉัยของศาลในแต่ละคดีย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ก็ต้องระมัดระวังการวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยที่จะต้องไม่ล้ำเส้นเขตอำนาจศาล

ด้วยมีกฎหมายกำหนดโทษผู้กระทำตั้งแต่ตักเตือน ปรับ ไปจนถึงโทษจำคุก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน