การแก้ปัญหายางเถื่อนบรรลุผลรวดเร็วภายในระยะเวลาแค่ 2 เดือนเศษ

ช่วงปลายพฤศจิกายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยอมรับ เพิ่งได้ยินคำว่า “ยางเถื่อน” เป็นครั้งแรก จาก สส.พรรคเพื่อไทย ที่สะท้อนว่าทุกวันนี้ไม่ได้มีแต่เรื่องหมูเถื่อน ยังมียางเถื่อนเกิดขึ้นด้วย

ยางพาราที่นำเข้ามาโดยไม่ถูกกฎหมาย หรือที่เรียกว่ายางเถื่อนนี้ ก่อปัญหาไม่เพียงทำให้ปริมาณยางพาราในไทยล้นตลาด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อราคายางในประเทศลดลง

การลักลอบนำเข้ายางพาราที่ปนเปื้อน ความชื้นสูงและไม่มีคุณภาพ มีโรคแมลงศัตรูพืช ยังเสี่ยงต่อการระบาดทั้งในสวนยาง และแปลงเกษตรชนิดอื่นๆ ภายในประเทศอีกด้วย

หลังได้รับเรื่องร้องเรียนยางเถื่อน นายกฯ สั่งการกระทรวงเกษตรฯ กองทัพบก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี

กองทัพบกจึงประสานความร่วมมือฝ่ายเมียนมาในการสกัดกั้น ร่วมกับส่วนราชการตรวจสอบพื้นที่ปลูกยาง ปรับปรุงฐานข้อมูลให้ทันสมัยถูกต้อง

ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรและผู้ประกอบการรับซื้อยาง ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ป้องปรามไม่ให้รับซื้อยางที่ไม่สามารถตรวจสอบที่มาได้

จัดตั้งจุดตรวจร่วมความมั่นคงเพิ่มเติม ณ บ้านห้วยมาลัย อ.สังขละบุรี และจุดสกัดตามเส้นทางหลบเลี่ยง ลาดตระเวนพื้นที่ ติดตั้งกล้องวงจรปิดจุดล่อแหลม ใช้โดรนตรวจการณ์ และดำเนินการตามมาตรการควบคุมยางพาราอย่างเคร่งครัด ทั้งการจำหน่ายและการรับซื้อ








Advertisement

ด้วยมาตรการเหล่านี้ทำให้ปัจจุบันยางเถื่อนหมดไปในระดับหนึ่ง

ภายใต้นโยบายนายกฯ เศรษฐา และร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ เตรียมผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางตลาดยางพารา

รวมถึงใช้กลไกตลาดเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป เช่น ยางล้อ หมอนยาง ที่นอนยาง รองเท้ายาง เป็นต้น สองแนวทางสอดประสานเสริมให้ราคายางสูงขึ้น

ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ที่ปรึกษานายกฯ ทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย เผยว่า การยางแห่งประเทศไทยรายงานผลดำเนินการตามนโยบายของนายกฯ และรมว.เกษตรฯ สามารถดูแลราคายางได้เพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 20 บาท คิดเป็นมูลค่าร่วม 40,000 ล้านบาท

4 เดือนของรัฐบาลเศรษฐา ยกระดับราคายางในประเทศสูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 50 บาท เป็น 70 บาท เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้เป็นผลจากแปรรูปเพิ่มมูลค่า และการสกัดกั้นยางเถื่อนอย่างจริงจัง ซึ่งจะต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ราคายางพุ่งสูงขึ้นไปถึงกว่า 100 บาทให้ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน