สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่มที่เคลื่อนไหวเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล โดยไม่ลงมติตามมาตรา 153 ออกมาแสดงความไม่พอใจนายกรัฐมนตรี และรัฐบาล
โดยมองว่ารัฐบาลพยายามยื้อเวลาเปิดอภิปรายออกไป ในลักษณะต้องการซื้อเวลาไปวันๆ ไม่อยากชี้แจงข้อซักฟอกจากวุฒิสภา และหวังใช้เทคนิคทางการเมืองลากไปจนถึงปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 9 เม.ย.2567
แกนนำสว.กลุ่มเคลื่อนไหวซักฟอกรัฐบาลระบุว่า ขณะนี้มีความพร้อมแล้ว สมาชิกหลายคนแสดงเจตจำนงที่จะอภิปราย และอยากให้การอภิปรายเกิดขึ้นในเดือนก.พ.นี้
พร้อมทั้งขู่ว่าหากนายกฯ และคณะรัฐมนตรีไม่เข้าชี้แจงต่อวุฒิสภา ก็จะยื่น เรื่องต่อป.ป.ช.ไต่สวนมูลความผิด
ต่อข้อเรียกร้องและความกังวลของสว.กลุ่ม ดังกล่าว ทางแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลยืนยันหลายครั้ง ทั้งนายกฯ และครม.ยินดีตอบชี้แจง ข้อซักฟอกของวุฒิสภา
โดยยืนยันได้ติดต่อประสานกันไปแล้ว ตอนแรก จะเป็นช่วงต้นเดือน หรือกลางเดือนก.พ. แต่เนื่องจากนายกฯ ติดภารกิจ และต้องเดินทางไปต่างประเทศ ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นช่วงกลาง เดือนมี.ค.
แกนนำรัฐบาลย้ำว่ายินดีไปพูดคุยรับฟัง ซึ่งการอภิปรายตามมาตรา 153 ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติ แต่เป็นการสะท้อนความคิดเห็น ของวุฒิสภา จึงยินดีที่จะเข้าไปอธิบายชี้แจง ขอให้สว. ไม่ต้องกังวล
จากคำชี้แจงรัฐบาล คือยินดีที่จะให้อภิปราย พร้อมตอบข้อซักถาม และช่วงเวลาที่เหมาะสมคือกลางเดือนมี.ค. ไม่ใช่เดือนก.พ.
การเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมติ และ ข้อเรียกร้องกดดันของสว.บางกลุ่ม สำหรับกระแสสังคม และมุมมองของประชาชนแล้ว ยังมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก
เนื่องจากวุฒิสภาปัจจุบัน ซึ่งสมาชิกจำนวนไม่น้อยเป็นผลผลิตต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นสภาที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ฝ่ายตรงข้ามประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งผู้แทนราษฎร
โดยเฉพาะวุฒิสภาชุดปัจจุบันไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ทั้งยังลงมติบิดเบือนเจตจำนงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตลอดจนคว่ำร่างกฎหมายต่างๆ ที่ภาคประชาชนเสนอเข้าสู่สภา
ดังนั้น การที่สภาแต่งตั้งขออภิปรายซักฟอกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และยึดโยงประชาชน สังคมจึงไม่ให้ความสำคัญ เท่าที่ควร