ข้อเสนอแนะการดำเนินการโครงการเติมเงินดิจิทัลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทั้งหมด ได้ถึงมือรัฐบาลแล้ว

นายกรัฐมนตรีระบุจะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่วันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อประกอบการพิจารณา คาดว่าจะได้ข้อสรุปออกมา

โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญตั้งแต่ระดับฐานรากนี้ มีอันต้องเลื่อนไปหลายครั้ง เพื่อรับฟังความเห็นให้รอบด้าน เพราะมีเสียงคัดค้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอยู่จำนวนไม่น้อย

ตั้งแต่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ระบุว่าให้ไปรับฟังความเห็นทุกฝ่าย ให้ประเมินความคุ้มค่า และดูว่าเศรษฐกิจของประเทศอยู่ภาวะวิกฤตหรือไม่

ขณะที่ความเห็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาตินั้น มีข้อสังเกตและเสนอแนะรวม 8 ประเด็นหลักๆ ที่เป็นความห่วงกังวล

เกรงว่าผลประโยชน์จะตกอยู่กับพรรคการเมืองหรือเอกชนรายใหญ่บ้าง หรือควรแนบความเห็นคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าโครงการที่สัญญาไว้ตอนหาเสียงทำไปตามนั้นหรือไม่บ้าง ก่อหนี้ระยะยาวหรือไม่

สุดท้ายก็สรุปว่าเป็นเพียงข้อเสนอแนะทางวิชาการ ไม่มีสภาพบังคับ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ แต่ถ้าอ่านโดยละเอียดแล้วรัฐบาลจะไม่สามารถทำโครงการใหญ่ๆ แบบนี้ได้เลย

อย่างไรก็ตาม ข้อท้วงติงทั้งหมดทั้งสิ้นที่ผ่านๆ มา รัฐบาลก็เปิดรับฟังความเห็นมาโดยตลอด เพื่อความรอบคอบ ขณะที่ปัญหาปากท้องของประชาชนก็รอการแก้ไขอยู่








Advertisement

นายกรัฐมนตรีแสดงความมั่นใจว่าจะยังสามารถดำเนินโครงการนี้ต่อไปได้ และจะไม่ลดเพดานที่ตั้งไว้เดิม คือเติมเงินดิจิทัลจำนวนหนึ่งหมื่นบาท

ปัญหาและอุปสรรคต่อจากนี้มีอย่างมิต้องสงสัย เพราะบรรดานักยื่นร้องอาชีพทั้งหลายรอท่าอยู่แล้ว เพื่อขัดขวางไม่ให้เดินหน้าต่อไปได้ในทุกช่องทาง

แต่ถ้ารัฐบาลยังมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศได้ อุดรูโหว่ป้องกันช่องการทุจริตไว้แล้ว ก็ไม่ต้องหวั่นไหว ประชาชนจะเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้เอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน