บรรยากาศบ้านเมืองสุขสงบมาตั้งแต่ปลายรัฐบาลก่อน ผ่านการเลือกตั้งพ.ค.66 กระทั่งได้รัฐบาลผสมหลายพรรค 314 เสียง มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

จากนั้นที่ประชุมรัฐสภาโหวตให้ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ซึ่งเจ้าตัวประกาศว่า จะขอทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีที่ไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย โดยมีห้วงเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์คำประกาศดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

จวบจนกระทั่ง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้รับการพักโทษ กลับคืนสู่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อเช้าตรู่วันอาทิตย์ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ท่ามกลางความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมที่แบ่งออกเป็นสองฝ่ายชัดเจน เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

ความเห็นต่างนี้เองที่ก่อให้เกิดความกังวลว่าจะนำพาบ้านเมืองไปสู่ความขัดแย้งระดับใด

หลังการกลับมาของ “ทักษิณ” มีการเปิดประเด็นตั้งคำถามจากการเมืองฝ่ายตรงข้าม ที่นอกเหนือจากเรื่องอาการป่วย

นั่นก็คือ จากนี้ประเทศไทยจะเกิดสภาวะ 1 ประเทศ 2 นายกฯ เพราะดุลอำนาจทางการเมือง รวมถึงดุลอำนาจการบริหารประเทศ จะเปลี่ยนจากทำเนียบรัฐบาล ไปอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้า ที่พำนักของอดีตนายกฯ หรือไม่

โดยผู้ตอบคำถามประเด็นนี้ได้ดีที่สุด ก็คือนายเศรษฐา นายกฯ คนปัจจุบัน ที่ได้กล่าวว่า เรื่องความเห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย ตนเองน้อมรับความเห็นต่าง และเราต้องพูดคุยด้วยภาษาที่เหมาะสมและยึดมั่นในหลักการ

“ตรงนี้ก็อย่ามาดราม่ากันเลยดีกว่า ว่ามีนายกฯ กี่คน อะไรอย่างไร รัฐธรรมนูญไทยก็ระบุแล้วว่ามีนายกฯ อยู่คนเดียว และมีคนเดียว ก็คือผม” นายกฯ เศรษฐา ระบุ

ที่มาดราม่า 2 นายกฯ เป็นความพยายามทำลายพรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาล และด้อยค่านายกฯ ปัจจุบัน

กลุ่มคนเหล่านั้นยังตั้งคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมไทย ว่าสองมาตรฐานหรือไม่ในการพักโทษอดีตนายกฯ ที่ดูเหมือนได้รับสิทธิพิเศษเหนือนักโทษคนอื่นๆ

โดยจงใจมองข้ามประเด็นที่ว่า แท้จริงแล้วทักษิณ คือเหยื่อถูกกระทำจากกระบวนการยุติธรรมไม่ปกติ ที่ถือกำเนิดจากการรัฐประหารปี 49 ต่อเนื่องปี 57 โดนดำเนินคดี ยึดทรัพย์ โดยคณะตรวจสอบที่ตั้งขึ้นเอง สุดท้าย กว่าจะได้รับความยุติธรรมตามมาตรฐานปกติ ก็กินเวลานานถึง 17 ปี

ดังนั้น คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า คนสมควรถูกประณามต่อต้านคือ ทักษิณ หรือวงจรรัฐประหารที่ไม่ใช่แค่ทำลายระบบยุติธรรม แต่ยังทำลายประเทศชาติจนพังยับถึงตอนนี้ กันแน่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน