ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบพิสูจน์หาข้อยุติ กรณีข้อพิพาทพื้นที่ดินทับซ้อนในอ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ว่าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่หรือไม่

โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ฝ่ายกรมป่าไม้ และกรมอุทยานฯ ระบุมีหลักหมุดเพื่อออกเอกสารสิทธิส.ป.ก.4-01 ต้องสงสัย เข้าไปอยู่ในเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ เนื้อที่เกือบ 3,000 ไร่

ขณะที่อีกฝ่ายยืนยันพื้นที่ดังกล่าวเป็นของส.ป.ก.แน่นอน เพราะมีหลักฐานได้รับมอบมาจากกรมป่าไม้ตามมติครม. ที่ให้จำแนกพื้นที่ออกจากพื้นที่ป่าไม้ เพื่อไปจัดสรรให้แก่เกษตรกรตามกฎหมาย

ข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนเป็นปัญหาเรื้อรังยาวนาน หลายพื้นที่ยังไม่มีข้อยุติ ไม่ว่าจะเป็นการทับซ้อนกับพื้นที่ประชาชน พื้นที่ป่าชุมชน ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ราชพัสดุ และการรถไฟ เป็นต้น

หลายพื้นที่มีประชาชนจับจองเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ทำการเกษตร แต่ต่อมาราชการประกาศเป็นพื้นที่ของรัฐ ทำให้ประชาชนที่อยู่มาก่อนไม่มีสิทธิครอบครอง แม้กระทั่งพื้นที่หน่วยงานของรัฐก็ทับซ้อนกันเองด้วย

หลายรายต่อสู้เป็นคดีความข้อพิพาท แต่สำหรับประชาชนระดับล่างที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจอย่างดุดันแข็งกร้าวบังคับขับไล่ให้ออกจากพื้นที่

ปัจจุบันมีประชาชนหลายหมื่นคนถูกจับกุมดำเนินคดี ทั้งที่อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่นั้นมาหลายชั่วอายุคน

ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลมีแนวคิดจะทำอย่างไรให้ทั้งประเทศใช้แผนที่แบบเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันมีหลายหน่วยงานต่างอ้างหลักหมุด รังวัด แผนที่ และภาพถ่ายทางอากาศเป็นของตนเอง

ไม่ว่าจะเป็นแผนที่ทางทหารเพื่อความมั่นคง แผนที่สำนักงานที่ดิน กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ การรถไฟ พื้นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ เป็นต้น ซึ่งต่างก็ทับซ้อนกันไปหมด

กลายเป็นช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลนำไปแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว หรือการแอบอ้างกล่าวหาเพื่อเอื้อประโยชน์ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด โดยเฉพาะกลุ่มนายทุน และผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

ดังนั้น นอกจากการจัดทำแผนที่ จัดสรรที่ดินใหม่ โดยยึดหลักสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันแล้ว ต้องจัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่แสวงหาประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อนควบคู่กันไปด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน