การประชุมสภาผู้แทนราษฎร 21 ก.พ.ที่ผ่านมา พิจารณาร่างพ.ร.บ.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

โดยสมาชิกฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านอภิปรายไปในทิศทางเดียวกัน ว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการเพิ่มอำนาจให้ กอ.รมน. แต่ลดบทบาทตัวแทนประชาชนในพื้นที่ต่อการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้

หลังการอภิปราย ที่ประชุมสภามีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.ที่เสนอโดยคณะสส.ประชาธิปัตย์ ก้าวไกล และเพื่อไทย ทั้ง 3 ฉบับ ด้วยเสียง 421 ต่อ 0 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ยกเลิกฯ 31 คน

สาระสำคัญคำสั่งหัวหน้า คสช. 14/2559 คือกำหนดแนวทางแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขึ้นแทน สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

รวมถึงการบูรณาการการทำงานระหว่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กับ กอ.รมน. ทำให้ กอ.รมน.มีอำนาจตัดสินใจเหนือกว่า ศอ.บต. ทั้งที่ตามกฎหมายบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ให้อำนาจและศักดิ์ของ ศอ.บต. เทียบเท่า กอ.รมน.

สส.ฝ่ายค้านและรัฐบาล ชี้ว่า การเพิ่มอำนาจ กอ.รมน. เป็นการขยายอำนาจฝ่ายทหารมาควบคุมกิจการของพลเรือน และการไม่มีสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาฯ ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่เป็นสมาชิก

ทำให้การแก้ปัญหาเดินไปผิดทาง และไม่ประสบความสำเร็จ

ในการประชุม ครม.นัดแรกของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อ 13 ก.ย.2566 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการไปยังทุกกระทรวงให้ทบทวนคำสั่ง คสช. หรือหัวหน้า คสช.ทั้งหมดว่า มีคำสั่งใดจำเป็นต้องยกเลิก

โดยการยกเลิกทำได้ผ่านกระบวนการรัฐสภา ตราเป็นพ.ร.บ. ดั่งเช่นคำสั่งหัวหน้า คสช. 14/2559 ที่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งอาจรวมถึงประกาศคำสั่ง คสช. อื่นซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 167 ฉบับ

ด้วยเหตุที่การคงไว้ ไม่สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชน จำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน กีดขวางการพัฒนาประเทศทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและอื่นๆ

สส.รัฐบาลและฝ่ายค้านจึงต้องร่วมมือกันปลดล็อกคำสั่ง คสช. ที่เสมือนเป็นเครื่องพันธนาการประเทศนี้ ให้หมดสิ้นไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน