ก่อนไปปฏิบัติภารกิจต่างประเทศ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้แนวทางแก้ปัญหา ไม่เข้าใจกันระหว่างสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

สืบเนื่องจาก 2 หน่วยงานอ้างกฎระเบียบ และแผนที่ของแต่ละฝ่าย ทำให้เกิดพิพาทพื้นที่ทับซ้อน ว่าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หรือส.ป.ก.กันแน่

นายกฯ เน้นย้ำเรื่องประเด็นทางกฎหมาย ถ้าตรงไหนเป็นที่ป่าต้องปล่อยให้เป็นพื้นที่ป่า โดยจะ ต้องยึดแผนที่ทหารมาตราส่วน 1 ต่อ 4,000 เป็นหลัก

ประการสำคัญคือ ต้องยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะปัญหาที่ดินทำกินเป็นเรื่องใหญ่ ไม่เช่นนั้นประชาชนจะไม่มีสิทธิ์ในที่ดินทำกิน

ด้วยข้ออ้างทางกฎหมายและแผนที่ ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานถือคนละอย่าง ทำให้กลายเป็นปัญหาบานปลายนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีกล่าวหาเอาผิดกัน

ต่อมาปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้นสังกัด 2 หน่วยงาน นำผู้เกี่ยวข้องหารือยุติปัญหา

เบื้องต้นทำข้อตกลงร่วมกัน ต่อไปการออกที่ดิน ส.ป.ก.ต้องมีคณะกรรมการประกอบด้วย 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลพื้นที่ดิน ต้องพิจารณารับรองแนวเขตร่วมกัน

ส่วนที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ รอผลตรวจของคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000 (วันแม็ป)

สําหรับเรื่องนี้ในมุมมองภาคประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ยังรอการพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทำกิน มีคำถามว่าแล้วพื้นที่ของประชาชนต่อปัญหาที่ดินทับซ้อนอยู่ตรงไหน เพราะประชาชนเป็นผู้มีส่วนได้เสียต่อเรื่องนี้ด้วย

เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดปัญหาที่ดินของรัฐ เช่น ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวน เป็นต้น ประกาศภายหลังทับพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยประชาชนดั้งเดิม นำไปสู่การบังคับอพยพขับไล่ ปัจจุบันประชาชน 3-4 หมื่นรายถูกดำเนินคดี

ทั้งที่ความเป็นจริงหลายพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ จนทำให้รัฐประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ได้นั้น ส่วนหนึ่งเพราะชุมชนร่วมดูแลรักษา สอดส่องเฝ้าระวัง ไม่มีทางเป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะทำได้ทั้งหมด หากขาดความร่วมมือจากประชาชน

ดังนั้น แนวทางที่นายกฯ เน้นย้ำยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง ต้องถูกนำไปปฏิบัติต่อการแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน