จากการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงไปปฏิบัติภารกิจ และพักค้างคืนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

ปรากฏว่ามีสังคมอีกส่วน โดยเฉพาะกลุ่มก้อนคู่แข่งขันทางการเมือง ตั้งคำถามในทำนองไม่ให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ เนื่องจากนายกฯ ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ หรือตอบคำถามน้อยเกินไปหรือไม่ ต่อเรื่องดังกล่าวในมุมมองของกลุ่มผู้ตั้งข้อสังเกต

เพราะนายกฯ และคณะ ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่เรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องประชาชน เดินทางไปดูแหล่งท่องเที่ยว ชิมอาหารของดีประจำถิ่น เดินตลาด เยี่ยมชมวัด มัสยิด พิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ เป็นต้น

นายกฯ ระบุว่าหากทำให้เศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ดีขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น สันติภาพและสันติสุขในพื้นที่ก็จะเกิดขึ้นตามมา

เกี่ยวกับข้อสังเกตของอีกฝ่าย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หนึ่งในผู้ร่วมคณะนายกฯ ระบุว่าการลงพื้นที่ของนายกฯ จะไม่พบทหารและกองกำลังอารักขา แต่เดินทางไปแบบบุคคลทั่วไป เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน แสดงออกถึงบรรยากาศสันติภาพ

โดยเฉพาะการไปเยือนมัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี สถานที่บาดแผลจากเหตุการณ์ความรุนแรง สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับปัญหาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้ สำนักข่าวที่ประเทศมาเลเซียก็ยังเผยแพร่บทความด้วยว่า การไปชายแดนภาคใต้ของนายกฯ ไทย แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลไทยต่อการแก้ปัญหาความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ สิทธิเสรีภาพ และการแสดงอัตลักษณ์ท้องถิ่น

คำอธิบายและอีกมุมมองต่อการลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของนายกฯ

นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำหลักพรรคร่วมรัฐบาล และนายเศรษฐาเป็นนายกฯ ผู้นำฝ่ายบริหาร พยายามปรับเปลี่ยนแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้

ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้ง รมว.ยุติธรรมที่เข้าใจงานอำนวยความยุติธรรมในพื้นที่ แต่งตั้งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้คนใหม่ และแต่งตั้งพลเรือนเป็นหัวหน้าคณะพูดคุย

ผลการพูดคุย 2 ฝ่ายเห็นชอบหลักการแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสันติสุขแบบองค์รวม และเตรียมจะคุยกันในรายละเอียด 3 ประเด็นใหญ่ คือลดความรุนแรง การหารือสาธารณะ และการหาทางออกทางการเมือง

ยิ่งช่วงนี้ใกล้เข้าสู่เดือนรอมฎอน การถือศีลอดของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น สถานการณ์ในพื้นที่ช่วงนี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า แนวทางดับไฟใต้ของรัฐบาลได้ผลมากน้อยแค่ไหน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน