FootNote สถานะ แห่ง “ไอ้หนู” ในสังคม กลายเป็น คำหยาบ ใน “สภา”

คล้ายกับสถานการณ์ว่าด้วย “นั่งลง ไอ้หนู” เมื่อเอ่ยกับ “ท็อป ปลวกแดง” จะเป็นคนละเรื่องกับสถานการณ์การเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลของรองประธานสภาชื่อ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา

หากศึกษาท่วงท่าและอาการไม่ว่าจะมาจาก นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ประสานกับจาก นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อย่างสังเคราะห์

ก็จะได้บทสรุปว่า อาจเป็น “คนละเรื่อง” ในแบบ “เดียวกัน”

ความจริงแล้ว การเรียกขานอีกฝ่ายว่า “ไอ้หนู” มิได้มาจากปากของ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม แห่งเมืองสุรินทร์เป็นหนแรก

เช่นเดียวกับ การเติมแต้มคำว่า “ไอ้หนู” หรือ “หนู” มิใช่ว่า “ท็อป ปลวกแดง” จะประสบคนเดียว ตรงกันข้าม “ลิซ่า ภัคมน” ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ดำรงอยู่ในลักษณะประสบการณ์ “ร่วม”

ทั้งหมดนี้หากมองจากวัยวุฒิและพื้นฐานของ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ที่เคยเป็นครูมาก่อนและดำรงอยู่อย่างเป็น “ผู้อาวุโส” ทั้งโดยอายุและโดยการได้รับเลือกเป็นสส.อย่างต่อเนื่องยาวนาน

นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สามารถใช้คำว่า “ไอ้หนู” ได้เหมือนกับการเรียกขานโดยปรกติ หากมองอีกฝ่ายเป็นเหมือน “เด็กนักเรียน” นัยยะแห่งน้ำเสียงเป็นความเอ็นดูมากกว่าที่จะหมิ่นหยามประณามเหยียด








Advertisement

แต่เมื่ออีกฝ่ายมีศักดิ์เป็นสส.ได้รับเลือกมาเช่นเดียวกันและเรียกขานอย่างเป็น “สาธารณะ” จึงดำรงอยู่อย่างแปลกสภาวะ

บรรดาแฟนานุแฟนพรรคเพื่อไทยจะมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นเมื่อนำเอาคำอภิปราย ไม่ว่าจะเป็นของ นายธีระชัย แสนแก้ว ไม่ว่าจะเป็นของ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล มาเป็นองค์ประกอบ

ทางหนึ่ง เราจะได้ยินคำขยายที่ว่าผู้พูดเป็นนักการเมืองมานาน มีประสบการณ์ทางการเมืองอย่างอุดมทั้งด้านสภาและด้านบริหาร

นั่นก็คือ เป็นสส.และเคยดำรงตำแหน่งเป็น “รัฐมนตรี”

ขณะเดียวกัน ทางหนึ่ง ก็มีความชอบธรรมอย่างสมบูรณ์ในการตั้งข้อสังเกตและเสนอแนะกับบทบาทของ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ที่เดินทางไปทำเนียบรัฐบาลว่าไม่เหมาะสมและไม่สมควร

อย่าได้แปลกใจในขณะที่ผู้อาวุโสระดับ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม กำลังแจกแจงเนื้อหาการอภิปรายอย่างต่อเนื่องเมื่อประสบกับการยกมือประท้วงจากรุ่นเยาว์อย่าง ท็อป ปลวกแดง

การสวนกลับด้วยคำว่า “นั่งลง” และสำทับตามด้วย “นั่งลง ไอ้หนู” จึงเป็นปรากฏการณ์ตามความเคยชินและเหมือนเป็นเรื่องปกติ

เพียงแต่ในสภายุคหลังเดือนพฤษภาคม 2566 กลับ “อ-ปกติ”

สภาพการณ์ดำเนินไปเหมือนกับกรณีที่ นส.พรรณิการ์ วานิช ยกมือประท้วงเมื่อประสบเข้ากับคำเรียกขานอันมากับคำว่า “คนสวย”

แม้เหมือนกับจะเป็น “คำชม” แม้เหมือนกับเป็นเรื่องธรรมดายิ่ง

อาจเป็นเรื่องธรรมดาอย่างปรกติหากการเรียกขานว่า “คนสวย” และการเรียกขานว่า “ไอ้หนู” จะมาจากคนที่สนิทคุ้นเคย แต่เมื่อเกิดขึ้นในเทศะอันเป็นที่สาธารณะเรื่องนี้ย่อมแปลกอย่างชวนให้เป็นคำถาม

กลายเป็นเรื่องที่เป็นเรื่องไม่เหมาะสม กลายเป็นเรื่องที่เหยียดเพศ กลายเป็นเรื่องที่สะท้อนมุมมองและบทสรุปถึงคนไม่เท่าเทียมกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน