นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ติดตามการแก้ปัญหาฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบอย่างหนักในจังหวัดภาคเหนืออีกครั้ง โดยบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ

พร้อมกันนี้ได้มอบหน้ากากอนามัยให้ประชาชน เพื่อเป็นหมุดหมายสัญลักษณ์แห่งความห่วงใยสุขภาพและมีความใส่ใจร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ด้วย

สถานการณ์สภาพอากาศจังหวัดเชียงใหม่และใกล้เคียงช่วงนี้มีความเลวร้ายถึงขั้นวิกฤต จำเป็นต้องช่วยกันลดจุดกำเนิดการเกิดฝุ่นควันต่างๆ โดยเร็ว

แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่และภูมิศาสตร์จึงไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ นอกจากร่วมกันแก้ปัญหาในระดับภูมิภาคแล้ว ยังต้องยกระดับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

ปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้น ต้องขอบคุณและชื่นชมเจ้าหน้าที่ส่วนหน้า ทั้งอาสาสมัครต่างๆ ที่ร่วมกันทุ่มเทจิตใจและเสียสละในการระดมดับไฟป่าอันเป็นจุดกำเนิดมลพิษอากาศ

สถาบันวิจัยทั้งไทยและต่างประเทศวิเคราะห์วิจัยสาเหตุว่าส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่าในประเทศไทยมาจากการเผาไหม้ในที่โล่งมากที่สุด

ด้วยขนาดที่เล็กจิ๋วมาก ทำให้ฝุ่นชนิดนี้เข้าสู่ทางเดินหายใจ กระแสเลือด และแทรกซึมสู่กระบวนการทำงานในอวัยวะร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างมาก

การป้องกันในเบื้องต้น จึงได้แก่การปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ และคำแนะนำด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตอาการที่เกิดจากผลกระทบของฝุ่น ถ้ามีอาการหนักต้องรีบพบแพทย์

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยเฉพาะหน้าคือ การระคายเคือง การอักเสบของร่างกาย แสบคอ ไอ มีเสมหะ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีฝุ่นที่มีขนาดเล็ก 1.0 ไมครอน หรือพีเอ็ม 1.0 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าอีก ปัจจุบันพบในกรุงเทพมหานคร ประมาณร้อยละ 20 โดยมีขนาดเล็กมากกว่าพีเอ็ม 2.5 หลายเท่า

จึงทำให้สามารถเข้าซอกซอนอวัยวะของร่างกายได้ทั่วทั้งตัว ส่งผลต่อโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดได้มากกว่า เช่น โรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ไตวายเรื้อรัง เส้นเลือดจอตาเสื่อม เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นผลระยะยาวที่เกิดจากการสะสมของฝุ่นขนาดเล็กในร่างกาย ซึ่งเปรียบเสมือนภัยเงียบ จึงจะต้องเฝ้าระวังและหามาตรการป้องกันแก้ไขโดยเร็วคู่ขนานกันไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน