สถานการณ์การสู้รบหนักหน่วงในเมียนมาที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2566 ระหว่างรัฐบาลทหารกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร

ส่งผลกระทบถึงไทยซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านรั้วติดกันอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง นอกเหนือจากการอพยพเข้ามาของผู้หนีภัยสงคราม ยังมีการทะลักเข้ามาของคนหนุ่มสาวทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

เพื่อหลบเลี่ยง ภายหลังการประกาศบังคับเกณฑ์ทหารในเมียนมาตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะเริ่มบังคับจริงในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้

คำถาม คือ ต่อสถานการณ์สู้รบ และการอพยพหนีภัยของประชาชนพลเมืองประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลไทยควรมีแผนดำเนินการรองรับและแก้ปัญหานี้อย่างไร

คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้ติดตามปัญหาเมียนมาอย่างใกล้ชิด มี 4 ข้อเสนอส่งตรงถึงรัฐบาล ได้แก่

การตั้งคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ในเมียนมาเป็นการเฉพาะ ดึงหน่วยงานความมั่นคงและต่างประเทศมารวมกัน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างมีเอกภาพและประสิทธิภาพ

ทำแผนมาตรการรองรับฉุกเฉินกรณีมีการสู้รบตามตะเข็บแนวชายแดนไทยมากขึ้น ซึ่งอาจมีปัญหาการทะลักเข้ามาของผู้หนีภัยและหลังการประกาศเกณฑ์ทหารในเมียนมา การกระจายการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่บุคคลจำนวนมากขึ้น ครอบคลุมทุกฝ่าย รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

ควรดึงทรัพยากรและความช่วยเหลือจากอาเซียนเข้ามาร่วม เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรม








Advertisement

ประการสุดท้าย การเพิ่มบทบาทให้ไทยเป็นหัวหอกแก้ไขปัญหาเมียนมาอย่างเป็นรูปธรรมและรวดเร็วมากขึ้น ไม่เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก แต่เป็นผู้ผลักดันสันติภาพในเมียนมา

โดยการตั้งเมียนมาทรอยก้าพลัส ประกอบด้วย ไทย ประธานอาเซียน จีนและอินเดีย เพื่อเป็นเวทีผลักดันการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน นำไปสู่การเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในเมียนมา สอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน

ประธาน กมธ.ระบุว่า เราไม่ขาดแคลนแนวคิด แต่ต้องเพิ่มความมุ่งมั่นจริงจัง ปัญหาเมียนมาเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่อาเซียนและไทย จะเป็นหัวหอกในการผลักดันการสร้างสันติภาพให้สำเร็จ

ข้อเสนอให้เป็นเจ้าภาพสร้างสันติภาพนี้ ถ้าทำได้ เกียรติภูมิของไทยจะเพิ่มขึ้นและกลับเข้ามาอยู่ในจอเรดาร์ของโลกอย่างชัดเจน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน