กลุ่มก้อนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ส่วนหนึ่งแสดง ความกังวลการอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 153 รัฐธรรมนูญ 2560

การอภิปรายจะมีขึ้นในวันที่ 25 มี.ค. 2567 โดยสว. ตั้งข้อสังเกตในทำนองว่านายกรัฐมนตรีอาจไม่มาฟังอภิปรายและชี้แจง หรือถ้าจะมาแต่ก็ไม่เต็มคณะรัฐมนตรี อาจมีเพียง 1-2 คน

ขณะที่สว.ในขณะนี้มีความพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมที่จะอภิปราย จัดผู้อภิปราย 27 คน พูด 7 ประเด็น ปัญหาเศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรม พลังงาน การศึกษา-สังคม การต่างประเทศ-ท่องเที่ยว แก้รัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปประเทศ

สว.คาดหวังว่านายกฯ จะมาฟังการอภิปราย เพราะถือเป็นภารกิจที่นายกฯ ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าไม่มาก็จะทักท้วงในที่ประชุม

นอกจากการอภิปรายของสว.แล้ว สส.พรรคร่วมฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรก็ยื่นเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 รัฐธรรมนูญ 2560

พรรคร่วมฝ่ายค้านให้เหตุผลว่า รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน เพิกเฉยต่อคำแถลงนโยบายที่ให้ไว้ต่อรัฐสภา ขาดประสิทธิภาพขับเคลื่อนนโยบาย หรือแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน

อาทิ ปัญหาหนี้สิน พลังงาน การกระตุ้นเศรษฐกิจ ความเห็นต่างเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ความเท่าเทียมทางกฎหมาย การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การปฏิรูปกองทัพ ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด เป็นต้น

ขณะนี้ญัตติเข้าสู่ที่วาระการประชุมแล้ว กำหนดอภิปรายวันที่ 3-4 เม.ย.2567








Advertisement

การอภิปรายของสว. และสส.ที่จะมีขึ้นนั้น ลักษณะคล้ายกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการซักฟอกนายกฯ และรัฐบาล เพียงแต่ไม่มีการลงมติ

สำหรับมุมมองของประชาชนต่อกรณีนี้ ไม่คาดหวังอะไรมากนักต่อการอภิปรายของวุฒิสภา เพราะไม่มีความเชื่อมโยงประชาชน เนื่องจากเป็นคณะบุคคลทางการเมืองอันเป็นมรดกตกค้างจากคณะรัฐประหาร

แตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน จึงเชื่อมโยงผูกพัน มีความคาดหวังเป็นปากเป็นเสียง ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านก็มีจำนวนสส.ที่ผ่านการเลือกจากประชาชนมากกว่า 14 ล้านเสียง จึงทรงเกียรติและสง่างาม

ดังนั้น การอภิปรายของสส.ที่จะมีขึ้น ย่อมได้รับความสนใจจากประชาชนมากกว่าการอภิปรายของสว. เพราะการยึดโยงกับความเป็นประชาธิปไตยย่อมมีความสำคัญกว่า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน