จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีตั้งแต่การประชุมครม.นัดแรก ของรัฐบาลชุดนี้ ให้ทบทวนประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ฉบับใดจำเป็นต้องคงไว้ ฉบับใดต้องแก้ไขหรือยกเลิก

ล่าสุด นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ ระบุ จากการพิจารณาและแจ้งกลับมาของ 11 หน่วยงาน เห็นว่ายกเลิกได้ทันที 10 ฉบับ อาทิ ประกาศ คสช. เรื่องให้อำนาจหน้าที่ของนายกฯ เป็นอำนาจหน้าที่ของหัวหน้า คสช., ประกาศ คสช. เรื่องการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, ประกาศ คสช. เรื่องให้มารายงานตัว

ประกาศ คสช. เรื่องความผิดสำหรับการสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง, คำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีความเห็นเพิ่มเติมเห็นควรให้ยกเลิกอีก 10 ฉบับ รวมเป็น 20 ฉบับ

สำหรับการยกเลิกมี 4 แนวทาง แนวทางแรก ตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กลางขึ้นมา 1 ฉบับ มีบทบัญญัติให้ยกเลิกประกาศ-คำสั่งตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพ.ร.บ. วิธีนี้จะทำให้ยกเลิกประกาศ-คำสั่งที่ไม่เหมาะกับปัจจุบัน จำกัดสิทธิเสรีภาพ ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญได้ในคราวเดียวกันหลายฉบับ

แนวทางที่สอง นำหลักการในประกาศ-คำสั่งไปไว้ในกฎหมายปัจจุบันโดยตราเป็นพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม

แนวทางที่สาม โดยการตราพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) หรือออกกฎกระทรวง วิธีนี้ไม่ต้องผ่านกระบวนการในสภา แต่ใช้การออกพ.ร.ฎ.คือกฎหมายที่พระมหากษัตริย์ทรงตราขึ้นโดยคำแนะนำของ ครม.

และแนวทางที่สี่ แก้ไขหรือยกเลิกโดยทำเป็นมติ ครม. ซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร

การยกเลิกประกาศ-คำสั่ง คสช. ล็อตแรก 20 ฉบับ รัฐบาลมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการร่างพ.ร.บ.ยกเลิก เพื่อเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณา โดยพยายามเร่งส่งร่างให้ที่ประชุมสภาได้ทันก่อนปิดสมัยประชุม 9 เม.ย.นี้

สำหรับประกาศ-คำสั่งฯ ที่หน่วยงานเห็นว่าจำเป็นต้องให้มีอยู่ต่อไป ต้องรายงานสถานะและปรับปรุงแก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการบางตำแหน่งเพื่อให้นายกฯ หรือรัฐมนตรีเข้ามารับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่

แม้วิธีการขั้นตอนยกเลิก หรือแก้ไขอาจยุ่งยากซับซ้อน ต้องผ่านกระบวนการมากมาย

แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องดำเนินการ เพื่อให้กฎหมายที่บังคับใช้กับประชาชนถูกตราขึ้นตามครรลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน