สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส และกับอีก 4 อำเภอ จ.สงขลา ยังไม่สงบนิ่ง แม้รัฐบาลปัจจุบันปรับเปลี่ยนท่าที และวิธีการแก้ปัญหา

โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า สรุปเหตุการณ์เมื่อกลางดึกวันที่ 22 มี.ค.2567 เกิดขึ้นทั้งหมด 40 จุด

แบ่งเป็น จ.ยะลา 11 จุด จ.ปัตตานี 20 จุด จ.นราธิวาส 7 จุด และ จ.สงขลา 2 จุด ส่วนใหญ่เป็นการเผาทำลาย เช่น เสาสัญญาณสื่อสาร เสาไฟฟ้า ร้านสะดวกซื้อ และปั๊มน้ำมัน ก่อนต่อด้วยวางระเบิด เป็นเหตุให้แรงงานลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่เสียชีวิตรวม 2 ราย

แม้การก่อเหตุมุ่งเน้นเผาทำลายมากกว่าความสูญเสียต่อชีวิต แต่ก็เป็นสัญญาณไม่ดีต่อการสร้างสันติภาพ

จากเหตุการณ์ดังกล่าวเบื้องต้นฝ่ายรัฐระบุว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุต้องการทำลายระบบเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค ลดความเชื่อมั่นของเจ้าหน้าที่ และทำลายบรรยากาศเดือนรอมฎอน การปฏิบัติศาสนกิจในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งคาดว่าอาจเป็นการตอบโต้กรณีเจ้าหน้าที่ปิดล้อมหมู่บ้าน จนกระทั่งนำไปสู่เหตุวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องหา 2 ศพ ที่อ.สายบุรี จ.ปัตตานี หรือไม่

รวมถึงเพื่อต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมเหตุสลายการชุมนุมหน้าสภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อ 20 ปีก่อน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 85 ศพ ระหว่างลำเลียงไปค่ายทหาร

โดยเฉพาะกรณีหลัง ขณะนี้เหลืออีกไม่กี่เดือน คดีจะหมดอายุความ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องยังไม่ได้รับผิดชอบทางอาญา

หลังเหตุการณ์ 40 จุด เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ จ.นราธิวาส ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 6 คน ไปศูนย์ซักถามภายในค่ายทหาร

ขณะเดียวกันที่อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นหมู่บ้าน ตรวจเก็บสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอของชาวบ้าน ท่ามกลางความกังวลของภาคประชาสังคม อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิต่อร่างกายหรือไม่

ที่ผ่านมารัฐบาลชุดก่อนใช้มาตรการดังกล่าวอย่างเข้มข้น จนกลายเป็นเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง ความหวาดระแวง และความไม่เชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่

หวังว่ารัฐบาลปัจจุบันจะตระหนัก ไม่ใช้วิธีการผิดพลาดในอดีต เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อการพูดคุยสันติสุขที่กำลังรุดหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน