สังคมไทยยินดีกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และทุกเพศสภาพ

หลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระ 2-3 ด้วยคะแนนเห็นด้วย 400 เสียง ไม่เห็นด้วย 10 เสียง งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3

การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้ไทยกำลังจะเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียถัดจากไต้หวันและเนปาล และเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายสมรสของบุคคลเพศเดียวกัน

จากนี้สภาจะส่งร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมให้วุฒิสภาพิจารณา วาระ 2-3 หากได้รับความเห็นชอบ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศใช้ต่อไป

นิยามสมรสเท่าเทียม คือ การสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง

พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมจึงเป็นการให้สิทธิ และความเสมอภาคกับทุกเพศสภาพ ทั้งความคุ้มครองตามกฎหมายและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิในการหมั้น จดทะเบียนสมรส การจัดการทรัพย์สินคู่สมรส การเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญาเช่นเดียวกับคู่สมรส การรับมรดกเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิต การรับบุตรบุญธรรม การรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม

รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์การเบิกจ่ายสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น การรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม และการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิอื่นๆ ทางกฎหมายที่รับรองสิทธิของคู่สมรส

ซึ่งไม่ใช่การให้สิทธิใหม่ แต่เป็นการคืนสิทธิให้คนกลุ่มนี้

ประเด็นสมรสเท่าเทียม มีการขับเคลื่อนในไทยนานกว่า 20 ปี เริ่มมีการเสนอแนวคิดในยุครัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร ปี 2544 แต่ถูกกระแสต่อต้านเนื่องจากสังคมยังไม่พร้อม

รวมถึงสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ไม่สำเร็จ ช่วงปี 2563-2566 ยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องความเท่าเทียมทางเพศได้มีการเคลื่อนไหวในสังคมอย่างกว้างขวาง

สส.พรรคก้าวไกลเสนอร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ต่อสภาฯ ผ่านวาระแรก ค้างไว้จนถึงสภาฯ ชุดปัจจุบันที่หยิบยกขึ้นมาพิจารณา 4 ร่างด้วยกัน คือ ร่างฉบับ ครม. ร่างฉบับสส.พรรคก้าวไกล ร่างฉบับประชาชน และร่างฉบับประชาธิปัตย์ กระทั่งนำมาสู่การลงมติ 27 มี.ค.2567

ถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์สร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในประเทศ โดยหวังว่าการลงมติของวุฒิสภาวาระ 2-3 คงไม่น่าจะแตกต่างกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน