หลังผ่านเทศกาลสงกรานต์ การปรับคณะรัฐมนตรีจาก “เศรษฐา 1” มาเป็น “เศรษฐา 1/2” เริ่มชัดเจนจริงจังมากขึ้น ว่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ จากที่เคยเป็นเพียงกระแสข่าวก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลบริหารประเทศผ่านมาเป็นระยะเวลาพอสมควร การปรับคณะรัฐมนตรีถือเป็นเรื่องปกติ เพื่อให้ได้รัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถเหมาะกับตำแหน่งหน้าที่ หรือที่เรียกว่า “ถูกฝาถูกตัว” นั่นเอง

รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน บริหารประเทศมาแล้ว 7 เดือน นายกรัฐมนตรีผู้นำสูงสุดของรัฐบาล สามารถประเมินผลการทำงานของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงได้ว่า สำเร็จหรือใกล้เคียงกับนโยบายตามที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือไม่

รู้ว่าตรงไหนคือจุดแข็ง และตรงไหนคือ “จุดอ่อน”

ในอดีตรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ภายใต้การนำของนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น นับเป็นรัฐบาลตามระบอบประชาธิปไตย ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการดำเนินนโยบายบริหารประเทศ และแข็งแกร่งทางการเมือง

ถึงกระนั้น ผู้นำรัฐบาลไทยรักไทยได้มีการปรับคณะรัฐมนตรีจำนวนถึง 9 ครั้ง ในช่วงปี 2544-2547 หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ย 5 เดือนเศษ ต่อการปรับเปลี่ยน 1 ครั้ง

ทั้งนี้ การเมืองในระบอบประชาธิปไตย ยามบ้านเมืองปกติ รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการปรับคณะรัฐมนตรี ปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาตรา 171 มีบทบัญญัติชัดเจนว่า

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ








Advertisement

คำให้สัมภาษณ์ของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ถูกนำไปเพิ่มน้ำหนักให้กระแสการปรับคณะรัฐมนตรีที่มีมาก่อนช่วงสงกรานต์

แม้โฉมหน้า “เศรษฐา 1/2” จะยังไม่จบในวันที่ 17 เมษายน โดยไม่สามารถระบุวันเวลาชัดเจนได้ แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การปรับเปลี่ยนจะได้ข้อยุติในเร็ววันนี้

กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องวันเวลา คือการปรับคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้น จะต้องเป็นไปเพื่อให้ได้รัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถเหมาะกับตำแหน่ง แก้ปัญหา “ผิดฝาผิดตัว” เพื่อให้การบริหารประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ไม่ทำไปเพื่อผลประโยชน์ต่างตอบแทน หรือมุ่งหวังใช้เป็นเครื่องมือแก้ปัญหาทางการเมือง มากกว่าแก้ปัญหาของประชาชน

ไม่เช่นนั้นการปรับเปลี่ยนจะยิ่งเป็นการเพิ่มปัญหา และไม่สามารถนำพาประเทศไปในทิศทางอย่างที่ต้องการได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน