น่ายินดีที่นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนเพียงใบเดียว หรือ 30 บาทพลัส มีความก้าวหน้าขึ้นมาอีกขั้นแล้วอย่างน่าพึงพอใจ รวมเป็น 45 จังหวัดแล้ว

หลังเปิดดำเนินการนำร่องเป็นครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2567 ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส

ตามด้วยอีก 8 จังหวัด เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ได้แก่ นครราชสีมา นครสวรรค์ พังงา เพชรบูรณ์ สระแก้ว สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ

การใช้สิทธิทำได้ง่าย เพียงแค่ยื่นบัตรประชาชนที่หน่วยบริการ จากนั้นก็รับบริการตามขั้นตอนปกติ ซึ่งจากผลการประเมินสอบถามพบว่าประชาชนมีความพอใจสูงมาก

ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 นี้ รัฐบาลจะเปิดให้บริการเป็นเฟสที่ 3 ใน อีก 33 จังหวัด กระจายไปยังพื้นที่ภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้บริการประชาชนด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง

ทั้ง 33 จังหวัดในเฟสนี้ ประกอบด้วย ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร และพิจิตร

ภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท อุทัยธานี สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพิ่มที่อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย บึงกาฬ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ส่วนภาคใต้ สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี และยะลา

นโยบายนี้ต่อยอดมาจากความสำเร็จของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค อันเป็นแนวคิดของนายแพทย์สงวน นิตยารัมพงศ์ ดำเนินการมีผลเป็นรูปธรรมโดยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544

สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือ สิทธิตามกฎหมายของคนไทย ที่ใช้ในการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขและการแพทย์โดยไม่จำกัดค่าใช้จ่าย

เพื่อการรักษาพยาบาล การตรวจวินิจฉัยโรค และการรักษาตั้งแต่โรคทั่วไปจนถึงการรักษาโรคเรื้อรัง หรือโรคเฉพาะทางที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างเท่าเทียม

นโยบายการดูแลสุขภาพของประชาชนรากหญ้าให้สามารถเข้าถึงการบริการที่สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง จึงน่าสนับสนุนอย่างยิ่ง จึงหวังว่าจะสามารถขยายพื้นที่บริการไปยังจังหวัดที่เหลือทั่วประเทศโดยเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน