นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ โฆษกกรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์ป่วยจากภาวะโรคลมร้อนหรือฮีตสโตรก ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2567 และแสดงความเป็นห่วงสุขภาพประชาชน

เนื่องจากพบผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 30 ราย เทียบปี 2566 ช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน ระยะเวลา 4 เดือน มีเสียชีวิตรวม 37 ราย แต่ปีนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 2 เท่า

สำหรับกลุ่มที่มีความเสี่ยง ประกอบด้วย ผู้สูงอายุ เด็กเล็กวัยทารกถึงอนุบาล เนื่องจากระบบระบายอากาศของร่างกายไม่สมบูรณ์ เมื่อเทียบกับคนทั่วไป

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่มีโรคเรื้อรังเช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคอ้วน เป็นต้น รวมถึงอาชีพเสี่ยงทั้งในกลุ่มคนทำงานกลางแจ้ง และประกอบอาชีพหรือทำหน้าที่ภาคสนาม

แม้ตามปฏิทินฤดูกาล ประเทศไทยจะย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่กรมอุตุนิยมนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าสภาพอากาศว่าจะยังร้อนอบอ้าวต่อไปอีกอย่างน้อยสองสัปดาห์

ที่ผ่านมา พบว่าภาคเหนือและภาคอีสาน รวมถึงภาคกลางบางจังหวัด มีสถิติอุณหภูมิมากกว่า 43 องศา ที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง มีอากาศร้อนมากเกิน 44 องศา

ทำให้มีการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนหนึ่งใช้ไปทางระบายความร้อนจากร่างกายและการปรับอุณหภูมิห้องและที่ทำงานให้มีความเย็น

เฉพาะเดือนเมษายน ทั้งประเทศมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 36,699.9 เมกะวัตต์ เมื่อที่ 29 เมษายน เวลา 21.00 น. นับว่าทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ความร้อนอบอ้าวที่แผ่ปกคลุมทั่วประเทศขณะนี้ แพทย์มีคำแนะนำ ให้ลดกิจกรรมต่างๆ ช่วงเวลา 11.00 น. จนถึง 15.00 น. เพราะเป็นช่วงที่แดดแรงร้อนจัด

รวมถึงหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ถ้าต้องออกไปข้างนอก ให้ดื่มน้ำบ่อยๆ ทุกชั่วโมง 1-2 ชั่วโมง อย่างน้อย 2-4 แก้ว ถ้าเสียเหงื่อมากให้ดื่มน้ำเกลือแร่เพิ่ม

การดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน จะทำให้การระบายความร้อนของร่างกายลดน้อยลง ควรสวมเสื้อผ้าใส่สบาย สีอ่อน ที่ระบายความร้อนได้ดี

หากมีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็วใจสั่น หน้าแดง เหงื่อออกน้อย คือสัญญาณเตือนความเสี่ยงฮีตสโตรก ต้องรีบปฐมพยาบาล ถ้าหากหมดสติให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน