รองนายกรัฐมนตรี “พล.อ.อ.ประจิน” ชี้ รัฐบาลวางมาสเตอร์แพลน ตั้งเป้าหลังจากนี้ 5ปี ต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางไซเบอร์5,000คน ขณะนี้เร่งผลิตนักรบไซเบอร์ให้ได้200คนก่อน

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในกิจกรรม “สื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า” ครั้งที่ 3 หัวข้อ “มุมมองของรองนายกฯประจินฯ” ถึงกรณีที่รัฐบาลมีแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ต้องการเพิ่มนักรบไซเบอร์ 1,000 คน นั้น เพราะพบเนื้อหา หรือคนกลุ่มไหนในโลกออนไลน์ต้องจับตาเป็นพิเศษหรือไม่ โดยเฉพาะ 22 พ.ค.นี้ครบ 4 ปีคสช.ความเคลื่อนไหวทางการเมืองจะย้ายมาอยู่ในโลกออนไลน์มากกว่าบนท้องถนนหรือไม่ นอกจากนี้ความคืบหน้าเรื่องบิ๊กดาร์ต้าที่คอยมอร์นิเตอร์ข้อมูลข่าวสารในโซเชียล

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ปัจจุบันเป็นโลกของไซเบอร์ เรามีอินเตอร์เน็ต ออนไลน์ สามารถสื่อสารได้ทุกมิติ ทุกสาขาอาชีพ ซึ่งมีทั้งแง่บวก แง่ลบ ทั้งสร้างสรรค์ ละเมิดบุคคล ทำลายข้อมูล เปลี่ยนแปลงข้อมูล หรือใช้คอมพิวเตอร์เรียกร้องผลประโยชน์ หรือทำลายระบบอื่น ซึ่งจำเป็นต้องมีกฎหมายและหน่วยงานที่มอร์นิเตอร์ประเด็นปัญหาที่เกิดจากการละเมิดต่อการใช้คอมพิวเตอร์ สถาบัน และบุคคลที่สาม รวมถึงด้านความมั่นคง และเมื่อเกิดการกระทำผิดกฎหมายก็ต้องมีหน่วยงานที่เข้าดำเนินการ ตอนนี้กระทรวงดิจิทัลฯก็จะมีปอท. ที่ปฏิบัติงานร่วมกับสำนักงานตำรวจ และฝ่ายความมั่นคง และกสทช. และมีหน่วยงานหนึ่งที่ชื่อไทยเซิร์ท ที่เป็นหน่วยงานขึ้นอยู่กับเอดด้า ที่คอยให้การสนับสนุนข้อมูลเชิงสายวิชาการ ให้ความรู้ และเรื่องกฎหมาย พ.ร.บ.คอมฯ และกฎหมายละเมิดบุคคลที่สามที่กำลังจะออก ซึ่งคาดจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ เพื่อปกป้องข้อมูล บุคคล ภาคธุรกิจ การเงิน อุตสาหกรรม ไม่ให้เกิดความสูญเสีย

“เราจำเป็นต้องสร้างระบบ และคน ที่เชี่ยวชาญในทั้งระบบไซเบอร์ ซึ่งวางเป้าไว้ว่าใน 5 ปี (60-64)เราต้องการถึง 4,500-5,000 คน ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ส่วนเบื้องต้นต้องผลิตนักรบไซเบอร์ให้ได้อย่างน้อย 200 คน โดยใช้งบประมาณ จำนวน 350 ล้านบาท จากกองทุนดิจิตัลเพื่อพัฒนาบุคคลกรด้านนี้ทั้งหมด โดยเริ่มได้ในกลางเดือนมิ.ย.นี้ที่จะสามารถเริ่มจัดคนเข้าหลักสูตรได้ และสามารถให้ 200 คนนี้บรรลุวัตถุประสงค์ในเวลาไม่เกิน 3 ปี ทั้งในหลักสูตรของ เจ้าหน้าที่เทคนิค เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ และผู้บริหาร ที่ต้องเรียนด้วยเพราะไม่เช่นนั้นจะคุยกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไม่รู้เรื่อง จึงถือเป็นความจำเป็นร่วมให้ได้ตรงความต้องการเฉพาะทางตามที่วางเป้าไว้ ถือเป็นมาสเตอร์แพลน ตามแผนแม่บท เพื่อติดตามเฝ้าระวัง เผชิญเหตุ ฟื้นฟู พัฒนา ซึ่งคาดว่าภายใน 4-6 เดือนนี้แผนจะแล้วเสร็จ”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน