วิญญัติ ขีดเส้นอัยการคดีพิเศษ 30วัน ต้องฟ้อง ผู้ต้องหา กบฏ กปปส. ลั่นไม่ฟ้องผิดต่อหน้าที่เจอกันที่ศาลอาญาทุจริตฯ เผยได้ข่าวผู้ใหญ่ในรัฐบาลสั่งการดูเเลผู้ต้องหาบางรายเป็นพิเศษ

เวลา 10:00 น. วันที่ 15 พฤษภาคม ที่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ อาคารสำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน และเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ(สกสส.) พร้อมคณะทำงาน ได้เข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ นายวงศ์สกุล กิตติพรหม ให้เร่งนำตัวผู้ต้องหากลุ่ม กปปส. ที่เหลืออีกอย่างน้อย 18 คน ฟ้องศาลอาญาในคดีร่วมกันเป็นกบฏ ซึ่งหนึ่งในนั้น มีนางสาวจิตรภัสร์ กฤดากร หรือ ตั๊น รวมอยู่ด้วย โดยมีนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นตัวเเทน อธิบดีอัยดารสำนักงานคดีพิเศษเป็นผู้รับมอบหนังสือ

โดยนายประยุทธ กล่าวว่าหลังจากได้รับหนังสือเเล้ว จะรีบดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนของสำนักงานอัยการสูงสุดโดยเร็ว เกี่ยวกับเรื่องนี้เคยได้รับหนังสือจาก นายวิญญัติ หลายครั้งเเล้ว คดีมีความคืบหน้าไปมากอย่างน้อยที่สุดถ้าสื่อติดตามก็จะเห็นว่ามีการดำเนินการไปเเล้วพอสมมควร

นายวิญญัติ กล่าวภายหลังการยื่นหนังสือว่า เนื่องจากตนได้กระแสข่าวออกมาว่า มีบุคคลมีอำนาจระดับสูงในรัฐบาลกำชับให้ดูแลเป็นพิเศษ จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีการนำตัวมาฟ้อง ทั้งๆที่ผู้ต้องหากลุ่มนี้เป็นชุดเดียวกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งมีคำสั่งฟ้องจากอธิบดีอัยการไปแล้วเมื่อปี 2558 ต่อมาคณะทำงานคดีก็ยืนยันมติเดิมจนนำมาสู้การฟ้องแกนนำหลักๆไปแล้วนั้น เรื่องนี้สำนักงานอัยการสูงสุดต้องทำหน้าที่ของตนอย่างมีเกียรติให้เป็นที่ประจักษ์ว่าไม่ได้รับคำสั่งใครเรื่องนี้จะจริงเท็จอย่างไรหรือไม่ ตนยังไม่ยืนยันจึงมายื่นหนังสือเร่งรัดในวันนี้ ดังนั้น ในการมายื่นหนังสือครั้งนี้ มีเจตนาชัดแจ้งว่า เพื่อประโยชน์แก่สาธารณะและทางราชการ จึงต้องมาบอกกล่าวความเสียหายว่า หากไม่จัดให้มีการนำตัวผู้ต้องหาที่เหลือมาฟ้องต่อศาลโดยเร็ว ภายใน 30 วันนี้ ตนมีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวโทษและใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบต่อไป สำหรับ ผู้ต้องหาคดีกบฏที่ยังมิได้นำตัวมาฟ้องต่อศาลอาญาอีกหลายคน ได้แก่ นายนิติธร ล้ำเหลือ ผู้ต้องหาที่ 11 นายอุทัย ยอดมณี ผู้ต้องหาที่ 12 นายสุภวัฒน์ สุปิยะพาณิชย์ ผู้ต้องหาที่ 17 นางสาวจิตรภัสร์ กฤดากร ผู้ต้องหาที่ 19 นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ต้องหาที่ 25 นายกิตติศักดิ์ ปรกติ ผู้ต้องหาที่ 27 พลเอกปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ ผู้ต้องหาที่ 31 นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ต้องหาที่ 32 นายพิภพ ธงไชย ผู้ต้องหาที่ 33 นายอมร อมรรัตนานนท์ (รัชต์ชยุตม์ ศิรโยธินภักดี) ผู้ต้องหาที่ 37 นายกิตติชัย ใสสะอาด ผู้ต้องหาที่ 43 นายคมสัน ทองศิริ ผู้ต้องหาที่ 44 นายพิเชษฐ พัฒนโชติ ผู้ต้องหาที่ 46 นายประกอบกิจ อินทร์ทอง ผู้ต้องหาที่ 48 นายนัสเซอร์ ยีหมะ (ตัวในเรือนจำ)ผู้ต้องหาที่ 49 นายพานสุวรรณ ณ แก้ว ผู้ต้องหาที่ 50 นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด ผู้ต้องหาที่ 51 และ นางทยา ทีปสุวรรณ ผู้ต้องหาที่ 55

เมื่อถามว่าภายใน30วันหากยังไม่มีการส่งฟ้อง ดังกล่าวจะดำเนินการอย่างไร

นายวิญญัติ กล่าวว่า คดีนี้กินเวลามากว่า 4 ปีเเล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่าบรรดาผู้ต้องหาที่เหลือนั้นอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษคนก่อนหน้านี้ได้มีความเห็นสั่งฟ้องไว้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะมีการชลอหรือประวิงคดี อาจจะมีบางคนที่ตนได้ยินข่าวมาว่ามีการยื่นร้องขอความเป็นธรรม ต้องขอตั้งขอสังเกตุว่าการที่จะให้ความเป็นธรรมหรือมีคำสั่งที่จะสามารถกลับความเห็นเดิมถอนฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องของอดีต อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษจะทำไม่ได้ คนที่มีอำนาจคนเดียวที่จะกลับคำสั่งได้คืออัยการสูงสุดเท่านั้น ถ้าอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษคนปัจจุบันมีคำสั่งกลับคำสั่งเดิมจะเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่อให้เห็นว่ามีการเอื้อประโยชน์กับผู้ต้องหาบางราย ซึ่งตรงกับที่ตนได้ข่าวมาว่ามีบุคคลระดับสูงในรัฐบาลฝากความเป็นห่วงหรือกำชับมาให้ดูเเลผู้ต้องหาบางคน ซึ่งหากเป็นเรื่องจริงจะทำให้หลักนิติธรรมล้มเหลว ซึ่งคำสั่ง คสช.ที่63/2558ก็ได้บอกไว้ชัดเจนว่า กระบวนการยุติธรรมต้องยึดหลักไม่ให้เกิดความขัดเเย้งในประเทศ ฉนั้นเมื่อครบกำหนด30วันหากยังไม่มีการดำเนินการฟ้องผู้ต้องหาในคดีกบฎ ตนจะเดินทางไปฟ้อง อธิบดีอัยการ เเละคณะทำงาน ที่พิจารณาคดี นี้ที่ศาลอาญาทุจริตเเละแระพฤติมิชอบกลาง ตามพฤติการณ์ของเเต่ละคนว่าใครในขณะทำงานมีความเห็นสั่งฟ้อง หรือใครไม่สั่งฟ้อง

“ผมเข้าใจต่อความอึดอัดใจของคนในตำแหน่ง แต่เมื่อท่านเป็นข้าราชการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ท่านย่อมต้องมีความกล้าหาญที่จะยึดหลักนิติธรรมและจริยธรรมของท่าน อย่าให้เสีย” นายวิญญัติกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน