กฎหมายส.ส.ฉลุย ศาลรธน.วินิจฉัยช่วยคนพิการลงคะแนน –ตัดสิทธิขรก.การเมืองไม่ใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ขัดรธน. พร้อมนัดลงมติคำสั่งหัวหน้าคสช. 53/2560 ขัดรธน.หรือไม่ 5 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 35 ( 4) และ( 5) ที่บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ใด ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและไม่ได้เเจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือเเจ้งเหตุที่มอาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งแล้ว แต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นจะถูกจำกัดสิทธิ์ (4) การดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา (5) สิทธิในการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการดำรงตำแหน่งตามาตราดังกล่าวเป็นสิทธิชนิดหนึ่งที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ออกกฎหมายจำกัดสิทธิดังกล่าวได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 95 วรรค 3

ส่วนมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่ระบุว่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุในการออกเสียงลงคะแนนให้คณะกรรมการหรือผู้ได้รับมอบหมายให้มีการอำนวยความสะดวกสำหรับการออกเสียงลงคะแนนของบุคคลดังกล่าวไว้เป็นพิเศษหรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ในการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวต้องให้บุคคลนั้นได้ออกเสียงลงคะแนนด้วยตนเอง ตามเจตนาของบุคคลนั้น เว้นแต่ลักษณะทางกายภาพทำให้คนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำการเแทนโดยความยินยอม และเป็นไปตามเจตนาของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น ทั้งนี้ให้ถือเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ

ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเอกฉันท์ว่าไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากอำนวยความสะดวกหรือจัดให้มีความช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนของคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุตามมาตราดังกล่าว ยังอยู่ในขอบเขตของวิธีออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับตามรัฐธรรมนูญมาตรา 85 วรรคหนึ่ง

สำหรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้วินิจฉัยคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 25 ,26, 27 และมาตรา 45 หรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดแถลงด้วยวาจาเพื่อการนำไปสู่การลงมติในวันที่ 5 มิ.ย. นี้

มติเอกฉันท์ “กฏหมายลูก ส.ส.” ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

มติเอกฉันท์ “กฏหมายลูก ส.ส.” ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน