ศาลปกครอง -ป.ป.ช.

ใบตองแห้ง

ศาลปกครองสูงสุด เพิ่งพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า ศาลปกครองมีอำนาจรับฟ้อง คดีที่อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งไล่ออกจากราชการ หลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีจัดซื้อรถเรือดับเพลิง

อ่านคำพิพากษาแล้วจะประหลาดใจ คดีนี้ ศาลยกฟ้อง คือศาลเห็นว่าทุจริตจริง สมควรถูกไล่ออก ศาลเห็นด้วยกับ

กทม. เห็นด้วยกับ ป.ป.ช. ผู้ฟ้องไม่ได้อุทธรณ์ แต่ ป.ป.ช.กลับอุทธรณ์ อ้าว ไหงเป็นงั้น

ป.ป.ช.ร้องสอด ขอให้แก้คำพิพากษาว่า ศาลไม่รับฟ้อง เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 223 บัญญัติว่าอำนาจศาลปกครองไม่รวมถึงการวินิจฉัยชี้มูลขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ ฯลฯ

พูดภาษาชาวบ้านคือ ป.ป.ช.ต้องการให้ศาลปกครองตัดสินว่า ศาลไม่มีอำนาจเข้าไปพิพากษาคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัย ไล่ออกปลดออก เพราะเป็นเขตอำนาจ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญ

แต่ศาลปกครองสูงสุดสวนกลับไปว่า ศาลมีอำนาจครับ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนให้ ป.ป.ช.มีอำนาจชี้ขาด ถึงแม้กฎหมาย ป.ป.ช.กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาต้องลงโทษวินัยตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลไป แต่ข้าราชการเป็นมนุษย์เหมือนกัน เขาสามารถใช้สิทธิทางศาล อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 ซึ่งสำคัญกว่ามาตรา 223 ร้องขอเพิกถอนคำสั่งได้ แม้ ป.ป.ช.เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่การชี้มูลก็เป็นการกระทำทางปกครอง แม้ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้เมื่อปี 46 ว่าองค์กรอุทธรณ์ในระบบราชการเปลี่ยนฐานความผิดไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้บอกไว้ว่าห้ามฟ้องศาลปกครอง

นี่คือคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐาน ข้าราชการที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลผิดวินัย จนถูกไล่ออกปลดออก สามารถฟ้องศาลปกครองได้ เอ๊ะ นี่ศาลอุ้มคนผิดไหม-ไม่ใช่ครับ ก็เห็นชัดๆ ว่าคดีรถเรือดับเพลิงนี้ ศาลไต่สวนอีกทีแล้วยืนยันว่าผิดจริง

นี่แหละคือหลัก “นิติรัฐ” กระบวนการยุติธรรมต้องมีการถ่วงคานอำนาจ กระทั่งศาลยังมี 3 ชั้นให้อุทธรณ์ฎีกา ป.ป.ช.เป็นผู้วิเศษมาจากไหน ป.ป.ช.ไม่มี ม.44 นะครับ

สิบกว่าปีที่ผ่านมา ป.ป.ช.ลงโทษวินัยข้าราชการแบบไต่สวนเองตัดสินเอง แล้วต้นสังกัดต้องปฏิบัติตาม เพราะสังคมไทยเชื่อว่าผู้บังคับบัญชาช่วยเหลือกัน นักการเมืองชั่ว ข้าราชการเลว ฯลฯ จนเอียงไปให้ ป.ป.ช.มีดาบอาญาสิทธิ์ แต่ผิดหลักนิติรัฐนิติธรรม

เพิ่งต้นปีนี้เอง ศาลปกครองเพิกถอนคำสั่งกรมที่ดินไล่ออกข้าราชการ เพราะศาลทบทวนรายงาน ป.ป.ช.แล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ป.ป.ช.เต้นผาง อ้างว่าก้าวล่วงอำนาจ จะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ขาด แต่ต่อมาก็ถอนเรื่องกลับ เพราะชักเสียวเหมือนกันว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้เปรี้ยง ศาลปกครองมีอำนาจ! แล้วจะ go so big รอรัฐธรรมนูญประกาศใช้ มีกฎหมายใหม่ก่อนดีกว่า

แต่วันนี้ เมื่อศาลปกครองพิพากษาแล้ว ก็ต้องรอดู ป.ป.ช.จะว่าอย่างไร จะฉวยไปร้องศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

ที่จริง ป.ป.ช.ก็สามารถไต่สวนศาล ในขอบเขตอำนาจตัวเอง แต่เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ป.ป.ช.เพิ่งมีมติ 5-4 ยกคำร้องกล่าวหาอดีตประธานและหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ว่าใช้อำนาจเปลี่ยนองค์คณะ และส่งคืนสำนวนโดยมิชอบ

คดีนี้ถ้าจำกันได้ ก็คือคดีที่พันธมิตรฟ้องขอคุ้มครองชั่วคราว มติ ครม. สมัคร-นพดล “ขายชาติ” สนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งศาลชั้นต้นออกคำสั่งคุ้มครองกลางดึก ครม.อุทธรณ์ ประธานศาลสั่งจ่ายสำนวนให้องค์คณะที่ 2 ซึ่งมี 5 คน ผลปรากฏว่ามีมติ 3 ต่อ 2 กลับคำสั่งศาลชั้นต้น แต่ระหว่างยังลงชื่อไม่ครบทุกคน หัวหน้าคณะก็ส่งสำนวนคืน ประธานสั่งเปลี่ยนองค์คณะใหม่ ไปเข้าคณะที่ตนเป็นหัวหน้า แล้วพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น

นี่ก็คืออำนาจที่องค์กรอิสระสามารถตรวจสอบกัน อยู่ที่จะเข้มข้นแข็งขันเพียงไร

องค์กรอิสระก่อตั้งจากความเชื่อสังคมไทย ที่เชื่อว่านัก การเมืองเลว ข้าราชการชั่ว ต้องหาผู้วิเศษมาปราบ จึงสร้างอำนาจตรวจสอบที่ไม่มีใครตรวจสอบได้ แล้วก็ขยายอำนาจ จนกลายเป็นปัญหาเสียเอง เช่นไม่กี่วันก่อนก็เพิ่งมีข่าวอื้อฉาว ผู้ว่าฯ สตง. ย้ายด่วน ผอ.จากกรณีเข้าไปตรวจสอบมหาวิทยาลัย ซึ่งทุกวันนี้ก็ออกนอกระบบ กลายเป็นเจ้ากรมอิสระ เลือกกันเอง ตั้งเงินเดือนเอง เปิดหลักสูตรพิเศษเอง ไม่มีใครตรวจสอบได้อีกเหมือนกัน

รัฐธรรมนูญ 2540 ยังให้องค์กรอิสระยึดโยงวุฒิสภาเลือกตั้ง 2550 วุฒิเลือกตั้งเหลือกึ่งหนึ่ง 2559 ตัดความยึดโยงทั้งหมดแต่เพิ่มอำนาจ แล้วบอกว่าจะคัดคุณสมบัติขั้นเทพ กระทั่งจะ Set Zero กันเอง

อนาคตคงไม่มีใครทำอะไรองค์กรเทวดาได้ แต่ระวังนะครับ ต่างคนต่างใหญ่ ขบอำนาจเมื่อไหร่ละก็น่าดู

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน