มท.1เผยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถอดบทเรียนกู้ภัยทำบันทึกเขียนแผนไว้ ยกเป็นตัวแบบนำไปใช้กันได้ทั้งในถ้ำ-บนบก

ทีมกู้ภัยในถ้ำหลวง

เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 10 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการถอดบทเรียนจากเรื่องนี้ ว่า ทีมดำน้ำในวันที่ตัดสินใจทำเขาประชุมกันก่อนโดยบรีฟเรื่องสถานการณ์ จากนั้นเป็นการเตรียมการทั้งซีลไทย ซีลฝรั่ง หมอ ซึ่งเขาพูดว่ายังไม่เคยมีใครทำสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน ถือเป็นประสบการณ์ของเขาเช่นกัน ที่เขาสนใจคือเรื่องพร่องน้ำ สูบน้ำ ลดน้ำ เราเองก็อยากได้ความรู้เรื่องการดำน้ำในถ้ำจากเขา หมอเองก็บอกว่ายังไม่เคยทำ ดังนั้นต้องประเมินความเสี่ยง เป็นการพูดคุยกันเพื่อการตัดสินใจทำในวันนั้น

“ที่ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งตัวที่เป็นปัจจัยในการตัดสินใจทำคือระดับออกซิเจนในถ้ำ เรื่องระดับน้ำ เรื่องความแข็งแรงของเด็ก และเด็กดำน้ำได้หรือไม่ ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยทั้งหมด ประกอบกับสถานะการณ์ที่เหมาะสมด้วย ตอนนี้ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะตัดสินใจทำ ออกซิเจนยังไม่ลดไปมากกว่านี้ และถ้าตัดสินใจช้าไปก็จะเป็นวิกฤต แล้วถ้าเด็กป่วยก็จะทำไม่ได้ ดังนั้นจึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุด จึงตัดสินใจทำ” มท.1 กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทยอาจยกระดับแผนกู้ภัยขึ้นเป็นสถาบัน มท.1 กล่าวว่า “เรื่องนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งมาในเรื่องการบริหารจัดการ ให้ถอดบทเรียนและจัดทำบันทึกเขียนแผนไว้ ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นโมเดล เป็นตัวแบบ ที่จะต้องนำไปใช้กันได้ทั้งในถ้ำและบนบก เตรียมแผนในการฝึก ซึ่งผมก็คุยกับทางกองทัพเรือว่าอาจจะส่งคนไปเรียนเรื่องดำน้ำในถ้ำ เพราะตอนนี้มีเพียงการดำน้ำในทะเลหรือน้ำจืด แต่ในถ้ำยังมีประสบการณ์น้อย เพราะมันจะมีเทคนิคและเครื่องมือที่แตกต่างกัน เชื่อว่าคงได้ประโยชน์จากการนี้

ส่วนการประกาศพื้นที่สาธารณภัย ก็เป็นไปตามขอบเขตคือทั้งประเทศมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จากนั้นลดหลั่นไปตามจังหวัด อำเภอ เทศบาล ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายบรรเทาสาธารณภัย อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนหรือการบรรเทาสาธารณภัยในเหตุต่างๆนั้นมีอยู่แล้ว อาทิ ไฟไหม้ สึนามิ แผ่นดินไหว แต่ติดถ้ำนี้จะเป็นอีกเคสหนึ่งที่ต้องทำขึ้นใหม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน