ครม.เห็นชอบตั้ง “กระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม” ให้ยกร่างพรบ.อุดมศึกษา ‘รมช.ศึกษาฯ’ เผย ‘บิ๊กตู่’ สั่งเร่งกระทรวงใหม่คลอดให้ทันเลือกตั้งก.พ.ปี ‘62

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 7 ส.ค. ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กระทรวงการอุดมศึกษา ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจสอบร่วมไปกับ ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งครม.มีมติอนุมัติไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา

นพ.อุดม กล่าวว่า การตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นกระทรวงใหม่ในครั้งนี้ นอกจากอาศัย ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. แล้ว ยังมี ร่าง พ.ร.บ.อีก 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … ซึ่งจะกำกับการอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัยทั้งหมด และร่าง พ.ร.บ.การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. … ซึ่งขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ

โดยสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … คือกำหนดแนวทางการจัดการอุดมศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคู่กับการพัฒนาคนที่มีคุณภาพ

เพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ เตรียมความพร้อมเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญที่จะยกระดับเศรษฐกิจไทย ให้เป็นเศรษฐกิจที่สร้างนวัตกรรมเองและต่อยอดเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์ ลดการนำเข้า สามารถพึ่งพาตนเองได้

รวมถึงยกระดับสังคมให้เป็น สังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน หรือ Inclusive Society ที่ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการเชื่อมโยงกระทรวงอุดมศึกษาฯกับเป้าหมายของประเทศ โดยจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการอุดมศึกษาให้มีความเป็นเอกภาพ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยจำนวนมากและมีการบริหารจัดการหลายรูปแบบ

อีกทั้งต้องการยกระดับให้สถาบันอุดมศึกษามีมาตรฐานที่สามารถแข่งขันได้ และสามารถยกระดับรายได้ของประเทศให้เพิ่มขึ้น หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง

ทั้งนี้ จะให้สถาบันอุดมศึกษามีเสรีภาพทางวิชาการ มีอิสระในการบริหารจัดการที่ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบ มีธรรมาภิบาล มีการบริการทางวิชาการแก่สังคม และส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมซึ่งเป็นจุดเน้นที่สำคัญที่สุดที่พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการอุดมศึกษาในอดีตไม่เคยระบุถึง

รมช.ศธ.ศธ. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม อยู่ในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งปกติจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3-4 เดือน แต่เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายที่ต้องการเร่งรัดให้เกิดกระทรวงนี้ก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานของคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษเพื่อดูแลทั้ง 3 พระราชบัญญัติสำหรับการจัดตั้งกระทรวงใหม่โดยเฉพาะ

โดยให้กรอบเวลาว่าต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ แล้วนำกลับมาให้ครม.ให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเดือนกันยายน เท่ากับ สนช. เหลือเวลาตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2561 เพราะตามมารยาทแล้ว สนช.จะไม่พิจารณา พ.ร.บ.ฉบับสำคัญในช่วงใกล้เลือกตั้ง และหากสนช.ทำงานแล้วเสร็จเชื่อว่าจะมีเวลาเพียงพอสำหรับการโยกย้ายบุคลากร

รวมถึงปรับโครงสร้างและกระบวนการภายในกระทรวงใหม่ ทำให้พร้อมทำงานภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ทั้งนี้ งบประมาณของกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมในปี 2562 จะไม่แตกต่างจากงบประมาณที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เคยได้รับมากนัก คือได้รับงบประมาณ 97,000 ล้านบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน