เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 ก.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ จะฟ้องดำเนินนคดีเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการเรียกค่าเสียหายในส่วนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ว่า เป็นสิทธิของนายบุญทรงที่จะฟ้องใครหรือไม่อย่างไรก็ได้ หากรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

ส่วนกระบวนการรับเรื่องและการพิจารณาจะเป็นอย่างไรต้องว่ากันตามกฎหมาย และทราบว่านายบุญทรงได้ทักท้วงในบางประเด็น คือรัฐบาลใช้มาตรา 44 ไปยึดทรัพย์ ทั้งที่อธิบายหลายครั้งแล้วว่าไม่ใช่ ถ้านายบุญทรงเข้าใจผิดต้องช่วยกันอธิบายให้เข้าใจ แต่ถ้าเชื่อว่าเป็นอย่างนั้นก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร เพราะมาตรา 44 ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่รัฐในเวลาที่รัฐจะไปยึดทรัพย์เท่านั้น จุดเริ่มต้นว่าผิดหรือไม่ผิดจะต้องใช้กระบวนตามกฎหมายปกติคือ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ที่ใช้มา 3,000-5,000 ราย เมื่อคณะกรรมการทางกฎหมายบอกว่าใครมีความผิดแล้วจะต้องไปยึดทรัพย์ ในกรณีที่มีมูลค่าเป็นหมื่นล้านบาท กระทรวงเจ้าทุกข์ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีเวลา ไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ชำนาญในการทำมาตรา 44 จึงออกมาเพื่อให้การกรมบังคับคดีไปทำหน้าที่นี้ และจะไม่สามารถทำได้ถ้าไม่มีเรื่องที่จะต้องให้ไปยึด เนื่องจากเรื่องที่จะยึดเกิดมาจากคณะกรรมการได้วินิจฉัยมาก่อนและมีคำสั่งทางปกครองแล้ว

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ จะนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครอง แล้วนำไปสู่การยึดทรัพย์ ก่อนหน้านี้แต่ละกระทรวงประสบปัญหา เพราะแม้ทรัพย์จะมีมูลค่าไม่มาก แต่เวลาไปยึดทำไม่เป็นและยึดได้ยาก จึงมีความพยายามมาก่อนที่คสช.จะเข้ามา ที่จะให้กรมบังคับคดีไปทำการยึดทรัพย์ ซึ่งกรมบังคับคดีท้วงมาตลอดมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะเขาไม่มีอำนาจ จึงอยากให้ออกกฎหมายให้อำนาจมา และทราบว่าสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เตรียมเรื่องให้กรมบังคับคดีตั้งกองบังคับคดีตามคำสั่งทางปกครอง แต่ยังติดอยู่ที่ว่ากฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ให้ยึด เพราะกฎหมายให้ยึดคำสั่งศาล จึงต้องพับเรื่องดังกล่าวไว้ มาถึงรัฐบาลนี้ จึงใช้มาตรา 44 ให้กรมบังคับคดีมีอำนาจเข้าไปทำ ไม่จำเป็นต้องไปตั้งกอง ส่วนข้อทักท้วงที่ระบุว่าคดีอาญายังไม่จบ แต่มีการดำเนินการเตรียมยึดทรัพย์นั้น เป็นคนละเรื่องและคนละประเด็นกัน

“การดำเนินคดีวินัยกับบุคคลสามารถแยกทางกับคดีอาญาหรือคดีแพ่งได้ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับ เป็นคนละข้อหากัน พิจารณาคนละศาล ใครจะทำก่อนหรือหลังไม่แปลก เพราะไม่ได้แปลว่าเมื่อศาลหนึ่งยกฟ้องแล้วจะยกฟ้องทั้งหมด เช่น ยกฟ้องคดีอาญา แต่ผิดวินัยและถูกไล่ออก หรือยกฟ้องคดีอาญา แต่ต้องชดใช้ทางแพ่ง หรือยกฟ้องทางแพ่ง แต่ต้องติดคุก ที่สำคัญคือ คดีละเมิด ซึ่งเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง อายุความสั้นเพียง 2 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 16-17 ก.พ.60 ถ้าจะถ่วงเวลาให้คดีอาญาจบ รับรองว่าเลยอายุความ ตอนนั้นจะฉุกละหุก ดังนั้น ทั้งหมดนี้อยู่บนความเป็นธรรมพื้นฐานและมาตรฐานปกติ ขอยืนยันได้ ส่วนจะผิดหรือถูก หรือที่นายบุญทรงโต้แย้งในข้ออื่น ไม่ใช่เรื่องที่ผมต้องไปเถียงกับท่าน ที่บอกว่าเรื่องจำนำข้าว จีทูจี ไม่มีทุจริต ต้องไปว่ากันในศาล ผมไม่สามารถตอบได้” นายวิษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อสังเกตว่า การใช้มาตรา 44 ให้กรมบังคับคดีมีอำนาจในการยึดทรัพย์ก่อนที่จะมีคำสั่งทางปกครอง เหมือนเป็นการตั้งใจออกมารองรับไว้ก่อน นายวิษณุ กล่าวว่า จะก่อนหรือหลังไม่แปลก ถึงออกมาก่อนก็ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องรอคำสั่ง แต่ที่ออกมาให้อำนาจก่อน เพื่อจะได้เตรียมการ โดยคำสั่งออกมาก่อนที่จะมีการลงนามคำสั่งกรณีจีทูจีไม่กี่สัปดาห์

ส่วนที่มีการถกเถียงโต้แย้งกันว่า ใครจะลงนามในการออกคำสั่งของกรณีจีทูจี ไม่ทราบว่าข่าวนี้ออกมาได้อย่างไร แต่ในกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้มีปัญหาอะไร และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ไม่ได้ติดใจอะไร เพราะรู้ว่ามีการลงนามและจบไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา จากนี้เป็นเรื่องของกระทรวงที่ต้องส่งคำสั่งไปให้นายบุญทรง กับพวกภายใน 30 วัน ถ้ายังไม่อุทธรณ์ จะมีการเตือนอีก 15 วัน ถ้ายังไม่ดำเนินการอะไร เมื่อครบ 45 วันนับแต่วันส่งคำสั่งไปให้ กรมบังคับคดีจะเข้าไปยึดทรัพย์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่ได้ยึดจากนายบุญทรงกับพวกมาเป็นของใคร แต่ยึดมาเป็นของแผ่นดิน เพราะไม่มีสินบนหรือรางวัลนำจับ ทุกอย่างทำตามหน้าที่

ต่อข้อถามว่า การที่นายบุญทรงออกมาขู่ฟ้องกลับจะทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความเกรงกลัวหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบว่ากลัวหรือไม่ แต่ต้องดำเนินการต่อไป ทุกคนทำตามหน้าที่ เมื่อศาลบอกว่าผิดคือผิด และมาตรา 44 ไม่ได้คุ้มครองทุกคน ทุกสถานการณ์ เพราะมีข้อแม้ว่าต้องทำภายใต้ความสมควรแก่เหตุ สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ ต้องขอบคุณนายพูนเดช กรรณิการ์ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่แสดงความเป็นห่วงและเตือนมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ข้อกฎหมายบางเรื่องได้พิจารณามาก่อนที่นายพูนเดชจะยื่นหนังสือแล้ว ไม่ได้บอกว่ามั่นใจอะไร แต่ทุกคนทำไปตามหน้าที่

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน