เมื่อเวลา 10.10 น. วันที่ 13 ม.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. …. แบบ 3 วาระรวด ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้เสนอ

โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม เป็นตัวแทนครม.ชี้แจงเหตุผลการขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ต่อที่ประชุมสนช. โดยพล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่า ครม.และคสช.มีมติเห็นควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ.2557 บางประเด็น เนื่องจากมีเหตุจำเป็นบางประการ

จากนั้นนายวิษณุ ชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า การแก้ไขครั้งนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 ใน 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือเป็นการเพิ่มข้อความใหม่ในวรรคสาม ของมาตรา 2 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในบางกรณี และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 39/1 วรรคสิบเอ็ด เกี่ยวกับการให้อำนาจนายกฯขอพระราชทานนำร่างรัฐธรรมนูญที่ได้ทูลเกล้าฯกลับมาปรับปรุงแก้ไขในบางประเด็นอีกครั้งหนึ่ง และนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายใหม่ภายในเวลาที่กำหนด ส่วนเหตุผลนายกฯได้นำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.59 ต่อจากนั้นร่างรัฐธรรมนูญก็ตกอยู่ในพระราชอำนาจที่จะทรงพิจารณา ซึ่งมีกำหนดเวลา 90 วัน

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ในระหว่างเวลาดังกล่าวสำนักราชเลขาธิการได้แจ้งมายังรัฐบาลว่าได้มีข้อสังเกตบางประการ ซึ่งสมควรที่รัฐบาลจะรับไปดำเนินการ และเมื่อรัฐบาลได้พิจารณาข้อสังเกตร่วมกับคสช.แล้วเห็นเป็นข้อสังเกตที่สมควรที่จะดำเนินการไปในขณะนี้ เพราะหากผัดผ่อนที่จะรอดำเนินการต่อไป สมมติว่าเมื่อรอให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วจึงค่อยดำเนินการแก้ไข แม้กลไกทางกฎหมายจะทำได้ แต่ก็จะเกิดปัญหายุ่งยาก เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญกลายเป็นกฎหมายแล้ว การจะแก้ไขเพิ่มเติมข้อความบางข้อความ หรือบางมาตรา หรือบางหมวดจำเป็นจะต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติเสียก่อน และจะเป็นภาระผูกพันต่อไปอีกยืดยาว จะกระทบต่อเรื่องอื่นๆ ตามมาอีกหลายเรื่อง แต่หากสามารถดำเนินการปรับปรุงแก้ไขประเด็นที่เล็กน้อยให้เสร็จสิ้นในขณะนี้ และนำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงพิจารณาใหม่ ก็น่าจะเป็นการชอบด้วยวิธีปฏิบัติทั้งปวง และน่าจะเป็นการเหมาะสม และไม่เกิดความยุ่งยากขึ้น

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ปัญหามีอย่างเดียว คือร่างรัฐธรรมนูญก็เหมือนร่างกฎหมายทั่วไป เมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายแล้วก็ถือว่าตกอยู่ในพระราชอำนาจ รัฐบาลหรือผู้ถวายจะขอนำมาปรับปรุงได้อย่างไร เรื่องนี้หากจะทำไม่ได้หรือทำไม่ถูกต้องก็คือใช้การใช้อำนาจในทางกฎหมาย เพราะทุกอย่างถูกตรึงอยู่โดยข้อกำหนดในกฎมาย เช่นจะต้องถวายเมื่อใด ภายในกี่วัน พระราชอำนาจที่จะทรงพิจารณามีกำหนดเท่าใด เมื่อถวายไปแล้วพระราชอำนาจจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นถ้าหากทำให้ข้อกฎหมายกระจ่าง รัฐบาลสามารถที่จะขอนำมาปรับปรุงแก้ไข ก็น่าจะดำเนินการได้โดยไม่มีข้อขัดข้องในทางกฎหมาย

ส่วนปัญหาที่อาจจะมีผู้นึกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้ว การที่จะขอรับพระราชทานกลับมาปรับปรุงแก้ไขจะเป็นการชอบด้วยเหตุผลประการใด ขอเรียนว่าขั้นตอนทุกอย่างมีการกำหนดไว้ เมื่อรัฐบาลนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯเมื่อถวายแล้วทุกอย่างก็พ้นขั้นตอนสุดท้าย คือการตกอยู่ในพระราชอำนาจ ในฐานะองค์พระประมุข และผู้ที่จะทรงลงพระปรมาภิไธย รัฐธรรมนูญใช้คำว่า “ทรงพิจารณา” และเป็นที่ทราบทั่วไปว่าจะเป็นร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติใดก็ตามที่เมื่อ นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่ทรงพิจารณา และเมื่อพิจารณาแล้วหากไม่ทรงเห็นชอบด้วยก็ประทานกลับคืนทั้งฉบับ ดังที่เกิดมาแล้วในอดีต เช่นในสมัยรัชกาลที่ 7 และในรัชกาลที่ 9 โดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย และเป็นเรื่องของรัฐสภาที่จะคิดดำเนินการต่อไปอย่างไร เช่นถ้าหากเห็นพ้องด้วยพระราชดำริก็ทำให้ร่างนั้นตกไป

นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลและคสช.จึงเห็นควรทำในบัดนี้ให้ถูกต้องและถูกกฎหมาย โดยถือว่าทั้งหมดตกอยู่ในขั้นตอนในชั้นการใช้พระราชอำนาจ คือการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้มีข้อความที่ให้อำนาจความชอบธรรมแก่นายกฯที่จะขอพระราชทานนำกลับคืนมาแก้ไข แต่ถ้าหากเขียนลอยๆก็จะเป็นที่ครหาได้ว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามตินายกฯจะนำกลับมาปรับปรุงแก้ไขตามใจชอบหรืออย่างไร ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น ในเมื่อเป็นเรื่องของการใช้พระราชอำนาจ ดั่งที่สำนักราชเลขาธิการได้แจ้งมา จึงควรเป็นเรื่องที่ครม.หรือใครก็ตามที่ขอรับเรื่องกลับคืนมาแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นที่เป็นไปตามหนังสือที่สำนักราชเลขาธิการแจ้งมาเท่านั้น หากจะมีอย่างอื่นพาดพิงออกไป ก็เป็นการเก็บประเด็นที่ตกค้างเกี่ยวเนื่องให้เสร็จสิ้นเท่านั้นเอง หาควรที่จะไปบังอาจปรับปรุงแก้ไขเรื่องอื่นที่ไม่อยู่ในข้อสังเกตที่สำนักราชเลขาธิการเชิญมาแต่ประการใด

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวดังกล่าว เพื่อให้เกิดอำนาจและความชอบธรรม ที่จะขอรับพระราชทานกลับมาปรับปรุงแก้ไข ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนที่รอบคอบรัดกุม และเมื่อจะมีการแก้ไขในส่วนนี้อยู่แล้วครม.ได้ทราบจากหนังสือที่สำนักราชเลขาธิการแจ้งมา ข้อสังเกตที่ได้พระราชทานมานั้นมีเรื่องอะไร ประเด็นใด ที่อาจจะจัดการให้ลุล่วงไปในเวลานี้ ก็ควรจะใส่ไว้ จึงทำให้เกิดหลักการขึ้นมาอีกข้อหนึ่งในการเพิ่มข้อความในวรรคสาม ของมาตรา 2 โดยมาตรา 2 เดิมมี 2 วรรค ซึ่งวรรคแรกพูดถึงการปกครองของประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วรรคสอง เป็นเรื่องของการให้นำหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2550 มาใช้บังคับ

แต่เมื่อมีเหตุผลและความจำเป็นที่จะไปกระทบกับส่วนของการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งหากจะไปรื้อข้อความในวรรคสอง ก็เท่ากับจะไปรื้อข้อความในหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรื่องอย่างนี้ควรไปทำเป็นการถาวร คือไปทำในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติที่จะขอรับพระราชทานกลับมาปรับปรุงแก้ไขในอนาคตมากกว่าที่จะแก้ไขชั่วคราว ซึ่งจะใช้ระยะเวลาบังคับอยู่ไม่นานนัก เพราะฉะนั้นจึงทำให้เกิดเพิ่มเติมการแก้ไขขึ้นอีกมาตราหนึ่ง คือเพิ่มความเป็นวรรคสามเกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

จากนั้นสมาชิกสนช.ได้อภิปรายสนับสนุนหลักการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 และลงมติรับหลักการวาระ1 ด้วยการขานชื่อรายบุคคล เห็นชอบด้วยคะแนน 229 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 ซึ่งถือว่ามีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง 124 เสียงขึ้นไป

ต่อมาที่ประชุมสนช.ตั้งกรรมาธิการเต็มสภา เพื่อพิจารณาเรียงตามมาตรา ในวาระ 2 ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 4 มาตรา ตามร่างที่ครม.และคสช.เสนอมา โดยนายวิษณุแจ้งว่า ครม.และคสช.ขอปรับปรุงถ้อยคำในมาตรา 3 ให้เกิดความชัดเจนขึ้น จากเดิมระบุว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง” เป็น “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นำความในมาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาใช้บังคับ”

ขณะเดียวกันนายวิษณุยังแจ้งต่อที่ประชุมสนช.ว่า ครม.และคสช.ขอปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำในมาตรา 4 เพื่อให้เกิดความชัดเจนและปฏิบัติได้จริง โดยเพิ่มถ้อยคำจากเดิมที่ระบุว่า “ให้สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการออกเสียงทำประชามติ ตามข้อสังเกตที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน” เป็น “ให้สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการออกเสียงทำประชามติ ตามข้อสังเกตที่พระมหากษัตริย์พระราชทานและประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันได้”

จากนั้นที่ประชุมสนช.ลงมติในวาระ 3 ด้วยการขานชื่อรายบุคคล เห็นชอบคะแนน 228 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เพื่อ ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป และปิดประชุมในเวลา 12.50 น. ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 40 นาที

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน