สภากฎหมายผู้ทรงเกียรติ ผ่านเอง-คัดค้านเอง ความโปร่งใสนี่ จุกจิกน่ารำคาญ!

จุกจิกน่ารำคาญ! จากกรณีประเด็นเผ็ดร้อน ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เรื่อง การยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ที่นอกจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการองค์กรอิสระ ตุลาการศาล และผู้บริหารท้องถิ่นแล้ว ยังกระทบไปถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน รวมไปถึงคนในครอบครัว แม้แต่ภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส

ประกาศดังกล่าว สร้างความกระทบกระเทือนไปในวงกว้าง ถึงขั้นที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆขู่จะลาออก จนทำให้ขณะนี้ต้องชะลอการบังคับใช้ประกาศ ป.ป.ช. ตัวนี้ออกไปก่อน เพราะเกรงจะเกิดปัญหาตามมา

ต้นตอของเรื่องนี้ สืบเนื่องมาจาก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป) ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ผ่านความเห็นชอบจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2560 โดยสมาชิกสนช. ต่างสนับสนุนกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนน 198 คน งดออกเสียง 7 คน และไม่ลงคะแนน 1 เสียง

การพิจารณาของสนช.ในวันนั้น สมาชิกทุกคนย่อมต้องเห็นข้อความส่วนหนึ่งใน พ.ร.ป. ฉบับนี้ เรื่อง การยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ระบุว่า “กำหนดให้ผู้ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินมีอยู่ 8 ประเภท ไม่จำกัดเฉพาะ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด

นอกจากจะต้องยื่นของตนเองแล้ว ยังจะต้องยื่นของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วย โดยที่คู่สมรสดังกล่าวจะรวมถึงผู้ที่อยู่กินกันฉันสามีภรรยาแม้ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ส่วนคำนิยามหรือขอบเขตความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาจะเป็นอย่างไรให้ ป.ป.ช.เป็นผู้กำหนด

ในเมื่อ ให้ ป.ป.ช. เป็นผู้กำหนด แล้ว ป.ป.ช. จึงได้ออกประกาศ ที่ระบุตำแหน่ง กรรมการสภามหาวิทยาลัย ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ด้วย เป็นเหตุทำให้เกิดการคัดค้านอยู่ ณ ตอนนี้

จากนั้น นายเฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งคู่เป็นสมาชิกสนช. ได้กล่าวคัดค้านต่อประกาศดังกล่าว ให้เหตุผลว่าจะทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เป็นการเพิ่มภาระไม่เหมาะสมเหตุผลกับตำแหน่งหน้าที่ เพราะส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ จึงมีความกังวลในการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ

ก่อนที่จะตอกย้ำด้วยคำสัมภาษณ์ของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวไว้ว่า กรณีของนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นไม่คิดว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับลับลมคมใน หรือไม่ต้องการเปิดเผย แต่ทุกคนมีปัญหาเดียวคือ ความรำคาญ จุกจิก ยุ่งยาก เหมือนกับที่หลายครั้งตนได้เชิญคนเข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือคณะรัฐมนตรีในอดีต

เมื่อทราบว่าจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยหลายคนจึงปฏิเสธไป ไม่ใช่ว่ากลัวความผิดจากการทุจริต แต่จุกจิก รำคาญ และกลัวผิดพลาด ทั้งยังมีคนจับตาดูอยู่ จึงไม่อยากเข้ามายุ่ง

ดังนั้น เมื่อมองย้อนไปในวันที่ สนช. ให้ความเห็นชอบผ่านกฎหมายตัวดังกล่าวแบบไร้คนคัดค้าน แต่พอปัจจุบัน ที่เกิดปัญหาขัดแย้งตามมา ประกาศปราบเซียน ของ ป.ป.ช.ตัวนี้ จึงยังไม่มีผลบังคับใช้

รัฐสภา ในยุครัฐบาลคสช. อาจถูกตั้งคำถามจากสังคม ว่า “วันนั้นผ่านเอง วันนี้ค้านเอง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นกฎหมายที่แสดงความโปร่งใสด้วยแล้ว แล้วกฎหมายตัวอื่นจะเกิดปัญหาแบบนี้ตามมาหรือไม่?

เรียบเรียงโดย ข่าวสดการเมือง


เพิ่มเพื่อนคลิกติดตาม ไลน์ข่าวสด รู้ข่าวก่อนใคร!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน